Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/24534
Title: ผลของการโอนบิลออฟเลดิงในระบบกฎหมายไทย
Other Titles: Effects of the transfer of bill of lading in Thai legal system
Authors: พนิดา วัธนเวคิน
Advisors: สาริน สกุลรัตนะ
ชัชชัย ศุภผลศิริ
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย
Subjects: กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ -- รับขน
กฎหมายพาณิชย์
กฎหมายทะเล
การค้าระหว่างประเทศ
Issue Date: 2529
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: การขนส่งสินค้าทางทะเลมีบทบาทสำคัญในทางการค้าขายระหว่างประเทศที่ต้องขนส่งสินค้าจากผู้ขายในที่หนึ่งไปยังผู้ซื้ออยู่ในอีกที่หนึ่ง โดยปกติในการขนส่งสินค้าทางทะเลนั้นผู้ขนส่งจะออกบิลออฟเลดิงให้ผู้ส่งของเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้รับของแล้ว บิลออฟเลดิงที่ออกให้แก่ผู้ส่งของมีหลายลักษณะ แต่ละลักษณะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขนส่งและผู้ส่งของที่แตกต่างกัน เช่น บิลออฟเลดิง “บรรทุกแล้ว” กับบิลออฟเลดิง “รับไว้เพื่อบรรทุก” ให้ผลที่แตกต่างกัน คือ บิลออฟเลดิง “บรรทุกแล้ว” แสดงว่าผู้ขนส่งได้บรรทุกสินค้าที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิงลงเรือแล้ว ส่วนบิลออฟเลดิง “รับไว้เพื่อบรรทุก” แสดงว่าในขณะที่ผู้ขนส่งออกบิลออฟเลดิง ผู้ขนส่งยังไม่ได้บรรทุกสินค้าลงเรือ เป็นต้น นอกจากนี้บิลออฟเลดิงยังมีคุณลักษณะทางกฎหมายที่สำคัญอีกสองประการคือ เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลและเป็นเอกสารสิทธิหรือเป็นสัญลักษณ์แทนสินค้าที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง คุณลักษณะประการสุดท้ายมีผลถึงความเปลี่ยนมือได้ของบิลออฟเลดิง กล่าวคือผู้ทรงบิลออฟเลดิงสามารถสลักหลังโอนบิลออฟเลดิงให้แก่บุคคลอื่นแทนการส่งมอบสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง และผู้รับสลักหลังสามารถเวนคืนบิลออฟเลดิงกับผู้ขนส่งเพื่อรับมอบสินค้า อย่างไรก็ตามผู้รับสลักหลังจะไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ยกเว้นกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นบิลออฟเลดิงจึงไม่เป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้เช่นเดียวกับตั๋วเงินแต่เป็นเพียงตราสารที่กึ่งเปลี่ยนมือได้ ที่สามารถโอนให้แก่กันได้เช่นเดียวกับใบรับของคลังสินค้าหรือประทวนสินค้านั่นเอง การสลักหลังโอนบิลออฟเลดิงก่อให้เกิดผลสำคัญในสามส่วนคือ เกี่ยวกับสิทธิในสินค้า หน้าที่และความรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเล และความคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้รับโอนโดยสุจริต ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสินค้า การสลักหลังโอนบิลออฟเลดิงมีผลเป็นการโอนการครอบครองสินค้าตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ส่วนกรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้รับสลักหลังหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจากเจตนาของคู่สัญญากับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นสำคัญ ในส่วนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งของและผู้ขนส่ง สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวจะโอนไปยังผู้รับสลักหลังเมื่อการโอนบิลออฟเลดิงนั้นเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าด้วย และผู้รับโอนสามารถใช้สิทธิตามสัญญายันต่อผู้ขนส่งได้ในนามตนเอง ในส่วนความคุ้มครองบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกผู้รับโอนโดยสุจริตไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนเว้นแต่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้น สำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศ มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกฎหมายประเทศต่าง ๆ ในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่งที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ส่วนกฎหมายไทยนั้น ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเลใช้โดยเฉพาะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 609 วรรค 2 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า “รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น” ซึ่งศาลไทยยึดถือแนวปฏิบัติโดยนำหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะมาตรา 4 และบรรพ 3 ลักษณะ 8 หมวด 1 เรื่องรับขนมาปรับใช้กับคดี ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนสับสนและไม่เหมาะสมกับลักษณะของสัญญาบางทีก็ขัดกับเจตนาของคู่สัญญา เพราะกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ครอบคลุมในทุกกรณี และบางกรณีมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากหลักกฎหมายสากลหรือจารีตประเพณีทางการค้า ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากโดยคู่สัญญารับขนของทางทะเลไม่สามารถทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลของการโอนบิลออฟเลดิงในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในสินค้าว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าจะโอนไปแค่ไหนเพียงไร และสิทธิและหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเลจะโอนไปยังผู้รับสลักหลังหรือไม่ ผู้รับโอนโดยสุจริตจะได้รับความคุ้มครองในกรณีใดบ้าง ความไม่ชัดเจนนี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งของทางทะเลซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการนิติบัญญัติในขณะนี้สามารถแก้ไขข้อบกพร่องของกฎหมายไทยได้ในบางส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดของผู้ขนส่ง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับผลของการโอนบิลออฟเลดิงแล้วยังไม่ครอบคลุมถึงในทุกกรณี ทำให้ต้องมีการตีความกฎหมาย อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการวางพื้นฐานกฎหมายการรับขนของทางทะเลของไทย และเป็นวิวัฒนาการอีกช่วงหนึ่งของกฎหมายซึ่งคงจะมีต่อไปในอนาคตอย่างไม่หยุดยั้ง
Description: วิทยานิพนธ์ (น.ม.)--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529
Degree Name: นิติศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: นิติศาสตร์
URI: http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/24534
ISBN: 9745662089
Type: Thesis
Appears in Collections:Grad - Theses

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Panida_Wa_front.pdf843.24 kBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_ch1.pdf1.27 MBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_ch2.pdf1.74 MBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_ch3.pdf1.38 MBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_ch4.pdf2.39 MBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_ch5.pdf1.01 MBAdobe PDFView/Open
Panida_Wa_back.pdf5.43 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.