Please use this identifier to cite or link to this item: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82175
Title: มาตรการภาครัฐในการให้เงินช่วยเหลือผู้มีฐานะยากจน
Authors: พงษ์เทพ ถิฐาพันธ์
Advisors: มานิตย์ จุมปา
Other author: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะนิติศาสตร์
Subjects: การตรวจสอบภาษีอากร
ความเสมอภาค
Issue Date: 2565
Publisher: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract: ประเทศไทยในทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกบริหารงานของรัฐบาล ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัญหาหนึ่งที่สำคัญของประเทศ คือ ปัญหายากจน ที่มีมาอย่างยาวนานควบคู่กับการพัฒนาประเทศ แม้จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามลำดับ แต่สิ่งหนึ่ง ที่สำคัญ คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่คนทุกคนในชาติอย่างทั่วถึง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น คนจนไม่ว่าจะเป็นจำนวนหรือสัดส่วน ระหว่าง คนจนกับคนรวยมีมากขึ้น ช่องว่างระหว่างความยากจน และความไม่เสมอภาคยังมีอยู่อย่างมาก แม้ว่ารัฐบาล ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ได้ทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้จัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ทางสังคมให้แก่ประชาชนตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่า จะเป็นสวัสดิการสำหรับเด็กและครอบครัว สวัสดิการด้านการศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพ สวัสดิการ ด้านคนพิการหรือด้อยโอกาส สวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นต้น หนึ่งในโครงการที่รัฐบาลได้จัดทำ คือ โครงการให้เงินคนยากจน หรือผู้ประสบปัญหาโดยรัฐได้เปิดโอกาสให้ประชาชนลงทะเบียนตามกลุ่มอาชีพและแจกเงินโดยตรงให้กับประชาชนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ นอกเหนือจากสวัสดิการอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เหตุที่น่าสนใจและนำไปสู่การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ คือ คำถามที่เกิดขึ้นว่า คนที่ได้รับความช่วยเหลือ โดยการแจกเงินจากรัฐเป็นคนจนหรือคนที่ได้รับความช่วยเหลือจริงหรือไม่ การแจกเงินแบบเหวี่ยงแหจะไม่มีปัญหาเลยถ้าประเทศของเรามีเงินมากพอเหลือเฟืออย่างประเทศกลุ่มผู้ค้าน้ำมัน กาลกลับตรงกันข้าม นอกจากประเทศไทยไม่มีเงินมากพอแล้ว ยังมีภาระของประเทศที่ผูกพันต่อเนื่องมายาวนานในรูปแบบหนี้สาธารณะ ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 10 ล้านล้านบาท และมีงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน ขาดดุลงบประมาณ ปีละไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การแจกเงินให้กับประชาชนคนยากจน ไม่ควรจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของสังคม เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนและพัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแนวคิดที่ควรจะเป็นของรัฐบาลคือการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ ขจัดอุปสรรคในการทำมาหาเลี้ยงชีพของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเหมาะสมและเต็มความสามารถในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ถึงแม้ว่า การแจกเงินให้กับคนยากจนจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของรัฐบาลก็ตาม แต่ถ้าหากประชาชน คนยากจนได้ใช้ศักยภาพและความสามารถในการหารายได้แล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ในที่สุด รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการแจกเงินเพื่อให้ประชาชนคนยากจนมีรายได้ไปซื้อของที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับการมีเหตุวิกฤติต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนประกอบอาชีพไม่ได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากข้อห้าม ข้อกำหนด และข้อปฏิบัติของรัฐบาลที่จำกัดโอกาสในการประกอบอาชีพเพราะเหตุวิกฤติ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนแม้จะเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 แม้รัฐบาลจะไม่มีเงินเพียงพอ รัฐบาลก็ยังจำเป็นที่ต้องกู้เงินหาเงินมาเยียวยาประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน โดยได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 จำนวน 1 ล้านล้านบาทและห้าแสนล้านบาทตามลำดับ เพื่อนำมาใช้เยียวยาประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การแจกเงินให้กับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน จึงมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องปฏิบัติในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม แม้ว่าการแจกเงินจะไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนนยากจนได้อย่างยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า “การให้ปลาเป็นอาหาร ไม่ช้านานประชาชนก็กินปลาหมด ซึ่งควรจะให้เบ็ดตกปลาและเหยื่อเพื่อให้ประชาชนไปหาปลาได้เองในอนาคต” แนวทางความช่วยเหลือของรัฐที่ควรจะเป็นเมื่อจำต้องแจกเงิน ให้ประชาชน คือ ทำอย่างไรที่จะหาวิธีแจกเงินให้ถูกต้องและตรงตัวผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือควรจะมีรูปแบบระยะเวลานานเท่าใด จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการแจกเงินให้คนยากจนที่รัฐในต่างประเทศได้ทำอยู่และนิยมนำมาใช้ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 1. Universal Basic Income (UBI) คือ การแจกเงินให้กับประชาชนในประเทศทุกคน คนละเท่า ๆ กัน ซึ่งจะมีคนพึงพอใจสูงสุด แต่ใช้งบประมาณมากที่สุดเช่นกัน 2. Condition Cash Transfer (CCT) คือ การแจกเงินให้กับประชาชนผู้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น ได้รับวัคซีน จึงจะได้รับเงิน 3. Negative Income Tax (NIT) คือ การนำระบบภาษีมาใช้ตรวจสอบบุคคล ผู้มีรายได้ตามเกณฑ์ที่รัฐต้องการจะช่วยเหลือ สำหรับประเทศไทย รูปแบบที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคือ Negative Income Tax (NIT) โดยนำระบบภาษีมาใช้ตรวจสอบข้อมูลบุคคล รายได้ อาชีพ การมีงานทำ สถานภาพ ตลอดจนข้อมูลที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง โดยเชื่อมโยงกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอยู่เพียง 11 ล้าน คน และมีผู้เสียภาษีที่เป็นตัวเงินอยู่เพียง 4 ล้านคนเศษ เมื่อนำรบบ NIT มาใช้จะทำให้บุคคลต้องมีชื่ออยู่ในระบบภาษีเกือบทั้งสิ้น ตามเกณฑ์อายุที่กำหนด (15-16ปี) ประมาณ 50 ล้านคน และรัฐสามารถกำหนดให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาระบบภาษีให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้
Description: เอกัตศึกษา (ศศ.ม) -- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565
Degree Name: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
Degree Level: ปริญญาโท
Degree Discipline: กฎหมายเศรษฐกิจ
URI: https://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/82175
URI: http://doi.org/10.58837/CHULA.IS.2022.158
metadata.dc.identifier.DOI: 10.58837/CHULA.IS.2022.158
Type: Independent Study
Appears in Collections:Law - Independent Studies

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
6480224434.pdf689.81 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.