Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 1) เพื่อทราบถึงเจตคติของพลวิจัยต่อวิชาการเขียนแบบเน้นกระบวนการ และ 2) เพื่อทราบว่าการฝึกทักษะการเขียนแบบเน้นกระบวนการจะช่วยให้พลวิจัยสามารถผลิตงานเขียนที่มีคุณภาพดีขึ้นหรือไม่ พลวิจัยในงานวิจัยประกอบด้วยนิสิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งสิ้น 19 คน ซึ่ง 11 คน ในจำนวนนี้เป็นนิสิตที่ผ่านการเรียนรู้วิชาการเขียนแบบเน้นกระบวนการตลอดภาคการศึกษา ส่วนอีก 8 คน ไม่ได้รับการสอนด้วยวิธีนี้ หลังจบภาคการศึกษา พลวิจัย 11 คน ตอบคำถามในแบบสอบถามจำนวน 20 ข้อ จากข้อมูลที่ได้รับจากแบบสอบถามสามารถสรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1) พลวิจัยมีเจตคติที่ดีต่อวิชาการเขียนแบบเน้นกระบวนการโดยที่พลวิจัยมีความเห็นว่าขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการเขียนนี้ช่วยให้พลวิจัยสามารถจัดระเบียบความคิดและช่วยพัฒนาการเขียนของตนเองให้ดีขึ้น พลวิจัยตระหนักว่ากระบวนการเขียนเป็นหัวใจสำคัญของการเขียน 2) พลวิจัยมีเจตคติที่ดีต่อวิธีการสอนของผู้วิจัย โดยเฉพาะในส่วนของข้อมูลย้อนกลับ การตรวจแก้ไขงานเขียนพร้อมคำแนะนำ และการที่พลวิจัยมีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับผู้วิจัยเป็นรายบุคคล และ 3) พลวิจัยสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ค่อนข้างดี และมีเจตคติที่ดีต่อการใช้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนวิชาการเขียน นอกจากนั้น ผลจากการเปรียบเทียบงานเขียนสอบชิ้นโดยใช้การคำนวณทางสถิติ แสดงให้เห็นว่าคะแนนของงานเขียนชิ้นหลังของพลวิจัยกลุ่มที่ได้รับการสอนการเขียนแบบเน้นกระบวนการดีขึ้นกว่าคะแนนของงานชิ้นแรกอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่งานเขียนสองครั้งของพลวิจัยกลุ่มที่ไม่ได้รับการสอนการเขียนแบบเน้นกระบวนการมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญ