Abstract:
วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัยครั้งนี้คือ เพื่อสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสื่อหลากหลายสำหรับช่วยให้นิสิตชั้นปีที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เรียนรายวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน 2 (FE 2) ด้วยตนเอง และเพื่อพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้เรียนดังกล่าวแล้ว พลวิจัยครั้งนี้ได้แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 จำนวน 75 คน จาก 3 ตอนเรียนและ3 คณะวิชา คือ ครุศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี และเภสัชศาสตร์ จากประชากรทั้งสิ้นจำนวน 3,803 คนที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชา FE 2 ในภาคปลายของปีการศึกษา 2542 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบทดสอบ 5 ชุด แบบวัดเจตคติ 1 ชุด และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสื่อหลากหลายที่ครอบคลุมเนื้อหา 4 บท อีก 1 โปรแกรม พลวิจัยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับคะแนนสมิทธิภาพทั่วไปทางภาษาอังกฤษที่สอบก่อนปฏิบัติการวิจัย คือ กลุ่มอ่อน กลุ่มปานกลาง และกลุ่มเก่ง ตลอดทั้งภาพเรียนพลวิจัยจะต้องใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้วยตนเองในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เรียนในห้องเรียนกับอาจารย์ (ในที่นี้คือผู้วิจัย) 2 ชั่วโมง และเรียนด้วยตนเองในศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองอีก 1 ชั่วโมง พลวิจัยนี้สอบแบบทดสอบกลางภาค แบบทดสอบปลายภาค และแบบทดสอบการฟังเข้าใจความที่จัดสอบโดยสถาบันภาษา รวมทั้งตอบแบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ตนใช้ และสอบแบบทดสอบวัดสมิทธิภาพทั่วไปทางภาษาอังกฤษอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์สุดท้ายของภาค ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบและจากการสอบถามวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS/PC โดยใช้ t-test, ANOVA, ANCOVA, Scheffe tests และ Chi-square test ผลของการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบสื่อหลากหลายที่สร้างขึ้นสามารถช่วยให้นิสิตชั้นปีที่ 2 เรียนรายวิชา FE 2 ด้วยตนเองได้ในเรื่องการอ่านเข้าใจความ คำศัพท์ การฟังเข้าใจความ และทักษะกึ่งการเขียน (การค้นหาข้อผิดพลาด) 2. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนดังกล่าวมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง และมีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนในระดับค่อนข้างสูง เช่น ก. มีดัชนีประสิทธิภาพสูง (E[subscript1]/E[subscript2] = 81.13/82.19 ข. สามารถทำให้พลวิจัยมีสมิทธิภาพทั่วไปทางภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ค. มีแนวโน้มว่าพลวิจัยมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรายวิชา FE 2 สูงกว่าผู้เรียนจากคณะเดียวกันที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ง. ทำให้พลวิจัยประมาณร้อยละ 36-40 มีระดับคะแนน (grade) ดีขึ้นกว่าผลการเรียนจากรายวิชา FE 1 และ จ. โดยเฉลี่ยแล้วพลวิจัยมีเจตคติที่ดีต่อการออกแบบ เนื้อหา และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนดังกล่าวแล้ว เป็นต้น