Abstract:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความต้องการและเจตคติของบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ต่อการใช้ภาษาอังกฤษในงานอาชีพและในชีวิตประจำวัน กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลในกลุ่มสาชาอาชีพ แพทย์ วิศวกร อาจารย์ พนักงานธนาคาร และพนักงานโรงแรม จำนวนรวม 574 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบเสอบถามความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในงานอาชีพและในชีวิตประจำวัน และแบบสอบถามเจตคติเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษในงานอาชีพและในชีวิตประจำวัน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS PC หาค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยค่า t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีแนวโน้มความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและในงานอาชีพโดยเฉลี่ยเหมือนกัน โดยความต้องการในทักษะการอ่านมากที่สุด รองลงมาคือ ทักษะการฟัง และทักษะที่มีความต้องการใช้น้อยที่สุดคือ ทักษะการพูด ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มว่ามีความต้องการใช้มากทีสุดในชีวิตประจำวันของทักษะการอ่านคือ การอ่านข่าว รองลงมาคือ การอ่านตำราในงานอาชีพและอ่านบทความ และกิจกรรมต่าง ๆที่มีความต้องการใช้มากที่สุดในงานอาชีพ ของทักษะการอ่านคือ การอ่านตำราเกี่ยวกับสาขาอาชีพ รองลงมาคือ อ่านบทความและคู่มือ ส่วนกิจกรรมต่า ๆ ที่มีแนวโน้มว่ามีความต้องการใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวันของทักษะการฟัง คือ การฟังภาพยนต์ รองลงมา คือ การฟังเพลง และการฟังข่าว และกิจกรรมที่มีแนวโน้มว่ามีความต้องการมากที่สุดในงานอาชีพของทักษะการฟัง คือ การฟังสนทนา รองลงมาคือ การฟังรายงานและการฟังบรรยาย/สอน 2. เมื่อเปรียบเทียบความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันกับความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในงานอาชีพของกลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพแพทย์ วิศวกร อาจารย์ และการโรงแรมมีแนวโน้มว่ามีความต้องการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ทุกทักษะ ส่วนกลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพธนาคารมีแนวโน้มว่าความต้องการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05ใน 3 ทักษะ คือทักษะการฟัง การพูด และการแปล 3. เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่ม พบว่า กลุ่มบุคคลทุกสาขาอาชีพมีแนวโน้มว่ามีความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ใน 4 ทักษะ คือ ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการเขียน และทักษะการแปล 4. เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่ม พบว่า กลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีความต้องการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกทักษะ 5. กลุ่มบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีแนวโน้มว่ามีเจตคติเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและในงานอาชีพอยู่ในระดับดี 6. เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่าบุคคลในสาขาอาชีพต่าง ๆ มีแนวโน้มว่ามีเจตคติเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและในงานอาชีพ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05