Abstract:
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้ระบบธุรกิจต้องปรับตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แต่เมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของวิสาหกิจเหล่านี้ให้การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นก็ยังพบว่ามีข้ออุปสรรคเมื่อต้องเผชิญกับประสิทธิภาพทางการตลาดเมื่อต้องเข้าสู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจากผลการศึกษาในอดีต พบว่าจากความล้มเหลวทางธุรกิจนั้น มีสาเหตุหลักมาจากความไม่พร้อมทางการตลาดและการดำเนินงานทางการตลาดที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการ จึงนำไปสู่การศึกษาและพัฒนานวัตกรรมนี้
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์และระยะของการศึกษา 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ศึกษาและพัฒนาตัวชี้วัดและแบบจำลองการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการโดยทำการทบทวนวรรณกรรมและสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ระยะที่ 2 ผู้วิจัยทำการทดสอบความเที่ยงของตัวชี้วัดและทดสอบแบบจำลองจากการเก็บข้อมูลจากวิสาหกิจจำนวนทั้งสิ้น 500 ราย ผลการศึกษาพบว่า มีองค์ประกอบซึ่งเป็นปัจจัยหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1. ความเป็นผู้ประกอบการ 2. ด้านการจัดการกลยุทธ์เพื่อรองรับความพร้อมทางดิจิทัล ความมีนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ และ 3. ด้านการดำเนินงานทางการตลาดและการจัดการแบรนด์ ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบซึ่งมีตัวชี้วัดย่อย 23 ตัวชี้วัดนี้ส่งผลถึงระดับความพร้อมทางการตลาดของวิสาหกิจ ในส่วนของระยะที่ 3 นั้น ผู้วิจัยนำแบบจำลองที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงแล้วมาทำการพัฒนานวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการโดยการนำตัวชี้วัดที่ได้มาพัฒนาให้สามารถประเมินศักยภาพทางการตลาดของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดของการเรียนรู้แบบมีผู้สอน (Supervised Learning) ในระยะที่ 4 นั้น ผู้วิจัยได้ทำการทดสอบการยอมรับนวัตกรรมจากกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและภาคธนาคารจำนวน 5 ราย และวิสาหกิจจำนวน 25 ราย ผลการศึกษาพบว่ามีการยอมรับ เห็นถึงประโยชน์และมีความสนใจนำระบบนวัตกรรมนี้ไปใช้งาน ดังนั้นในการศึกษาระยะที่ 5 จึงทำการศึกษาการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยศึกษาในมิติของการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ความคุ้มค่าในการลงทุน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงแผนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
ทั้งนี้ นวัตกรรมการประเมินความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการในรูปแบบซอฟท์แวร์นี้ มีประสิทธิภาพในการประเมินระดับความพร้อมทางการตลาดของผู้ประกอบการในแง่มุมต่างๆ พร้อมทั้งสามารถแสดงรายงานในภาพรวมของความพร้อมทางการตลาดยุคดิจิทัลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย ซึ่งวิสาหกิจสามารถนำซอฟท์แวร์นี้ไปใช้ในการประเมินความพร้อมทางการตลาดผู้ประกอบการของตนเอง หน่วยงานของรัฐซึ่งดูแล สนับสนุนกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถนำไปใช้ในการประกอบการให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงในการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจเหล่านี้ได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยในระดับโลกเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป