Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบทบาทด้านสาธารณสงเคราะห์ของพระสงฆ์ในบริบทของพุทธศาสนาเพื่อสังคม 2) ศึกษาการดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์วิถีพุทธของพระสังฆาธิการและภาคีเครือข่ายภายใต้กรอบที่มหาเถรสมาคมกำหนดไว้ 4 รูปแบบ คือ สงเคราะห์ เกื้อกูล พัฒนา บูรณาการ และ 3) เพื่อเสนอแนะแนวทางการทำงานสาธารณสงเคราะห์วิถีพุทธในอนาคตของคณะสงฆ์ไทย โดยกำหนดขอบเขตการวิจัย 3 ส่วน คือ 1) ขอบเขตเชิงเนื้อหา กิจกรรมสาธารณสงเคราะห์วิถีพุทธ 4 รูปแบบ ตามที่กล่าวในข้อ 2 จากพระสงฆ์ไทยในอดีตและปัจจุบัน 2) ขอบเขตเชิงพื้นที่ เพื่อศึกษาความเหมือน ความต่างและปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรม วัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ศึกษา ได้แก่ (1) วัดห้วยหมู จังหวัดราชบุรี (2) วัดม่วงตารศ จังหวัดนครปฐม (3) วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม และ (4) วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี 3) ขอบเขตเชิงประชากร กลุ่มเป้าหมายหลักจาก 4 วัดที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตเชิงพื้นที่ รูปแบบการวิจัยใช้วิธีการวิจัยภาคสนาม ประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการวิเคราะห์เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปองค์ความรู้และแนวคิดการทำงานสาธารณสงเคราะห์วิถีพุทธ บทบาทสังคหธุระและพุทธศาสนาเพื่อสังคม เครื่องมือการวิจัยภาคสนามประกอบด้วยแบบบันทึกการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาโดยอิงกรอบแนวคิดทฤษฎีที่กำหนดไว้ในการศึกษาเพื่อสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย สรุปผลการศึกษา พบว่า 1) การดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ใน 4 พื้นที่เป้าหมายการศึกษา มีแนวทางที่สอดคล้องตามกรอบการดำเนินงานที่ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมได้กำหนดไว้ซึ่งมีความโดดเด่นต่างกันไป 2) การดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ของพระครูจันทสีลากร พระครูโกวิทสุตสาร และพระราชธรรมนิเทศ เป็นแนวทางที่สอดคล้องไปตามแนวคิดสังคหธุระ 3)การดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ของกลุ่มอาสาคิลานธรรม เป็นแนวทางที่สอดคล้องไปตามแนวคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคม 4) การดำเนินกิจกรรมของวัดห้วยหมู วัดม่วงตารศ และวัดสวนแก้ว ยังขาดการพัฒนาสังฆพัฒนาทายาท การพัฒนาองค์ความรู้ และการพัฒนาภาคีเครือข่าย ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ จึงตั้งอยู่บนความเสี่ยงด้านความยั่งยืน 5)การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มอาสาคิลานธรรมดำเนินไปอย่างมีระบบ มีหลักการที่ชัดเจน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องผ่านการอบรมและการสั่งสมประสบการณ์ จึงเป็นแนวทางที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน 6) การดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ของสงฆ์จะยั่งยืนได้ต้องมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการการสาธารณสงเคราะห์ การพัฒนาศาสนทายาทและการพัฒนาภาคีเครือข่าย 7) การดำเนินกิจกรรมสาธารณสงเคราะห์ที่ได้ประสิทธิผล ผู้ทำกิจกรรมควรมีคุณลักษณะของจิตอาสา