Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาผลกระทบของความเท่าเทียมกันต่อความไว้วางใจที่มีต่อร้านขายยาค้าส่งในโซ่อุปทาน เป็นงานวิจัยเชิงผสม (Mixed Research) ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยประชากร คือผู้ประกอบการร้านขายยาปลีก ที่ได้รับอนุญาตให้ขายยาแผนปัจจุบันประเภท (ขย.1) และผู้ประกอบการร้านขายยาค้าส่งในประเทศไทย จากการรวบรวมข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการแจกแบบสอบถามออนไลน์ และเก็บแบบสอบถามเชิงรุกโดยเข้าไปสุ่มสอบถามที่ร้านขายยา ในเขต อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี จากนั้นนำผลจากแบบสอบถามสัมภาษณ์ผู้ประกอบการร้านขายยาค้าส่ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาดังนี้ 1. เพื่อศึกษาผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจด้วยความเท่าเทียม (Business fairness) ของร้านขายยาค้าส่ง (Wholesaler drugstores) ที่จะส่งผลต่อความไว้วางใจ (Trust) และความภักดี (Loyalty) ของร้านขายยาปลีก 2. เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของความไว้วางใจ (Trust) ต่อความภักดี (Loyalty) และการแนะนำโดยการบอกต่อ (Recommendation by Word of Mouth) ของร้านขายยาปลีก (Retail drugstores) ที่จะส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจร้านขายยาค้าส่ง (Wholesaler drugstores) 3. เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ (Business survival) ให้กับร้านขายยาค้าส่ง (Wholesaler drugstores) ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจยาในยุคปัจจุบัน จากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยการกระจายความเป็นธรรม (Distributive Fairness) ส่งผลต่อปัจจัยความไว้วางใจ (Trust) ที่ .399 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 0.05 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ ปัจจัยความเป็นธรรมตามขั้นตอน (Procedural Fairness) ส่งผลต่อปัจจัยความไว้วางใจ (Trust) ที่ .419 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 0.05 เห็นได้ว่าปัจจัยความเป็นธรรมตามขั้นตอน (Procedural Fairness) นั้นส่งผลกับตัวแปรความไว้วางใจ (Trust) มากกว่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับงานวิจัยต้นแบบที่การกระจายความเป็นธรรม ส่งผลต่อความไว้วางใจมากกว่า อาจเป็นผลจากระบบสาธารณสุขในประเทศของกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกัน และช่วงเวลาในการทำการวิจัยอาจส่งผลต่อความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เปลี่ยนไป ในด้านปัจจัยความไว้วางใจ (Trust) ที่ส่งผลต่อปัจจัยความภักดีของลูกค้า (Customer Loyalty) ที่ .501 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 0.05 และปัจจัยความไว้วางใจ (Trust) ที่ส่งผลต่อปัจจัยการแนะนำแบบบอกต่อ (Recommendation by Word of Mouth) ที่ .717 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่นที่ 0.05 แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้รับบริการ หรือลูกค้ามีความไว้วางใจแล้วนั้น จะมีการแนะนำแบบบอกต่อได้ก่อนความภักดีที่มีต่อร้านค้า เนื่องจากความภักดีต้องอาศัยระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง