Abstract:
สถิติการเกิดน้ำมันรั่วไหลในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของกรมเจ้าท่า พบว่าเกิดน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลอ่าวไทยตอนบนหลายครั้ง โดยมีสาเหตุมาจากเรือขนส่งสินค้า เรือขนถ่ายน้ำมัน เกิดอุบัติเหตุกลางทะเล อันเป็นผลมาจากความชำรุดของอุปกรณ์เดินเรือ หรือสภาพภูมิอากาศที่ไม่ดีต่อการเดินเรือ ยังส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีพื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเล และแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจำลองการรั่วไหลของน้ำมันบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเล ประกอบด้วยแบบจำลอง 3 ชนิด คือแบบจำลอง SWAN ใช้ในการจำลองคลื่นที่เกิดจากลม, แบบจำลอง Delft3D ใช้ในการจำลองกระแสน้ำเนื่องจากอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงและคลื่นลม และแบบจำลอง GNOME ใช้ในการจำลองการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบน ผลของแบบจำลองแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การจำลองคลื่นและกระแสน้ำ และการจำลองการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลอ่าวไทยตอนบน
ความสูงคลื่นนัยสำคัญเป็นผลที่ได้การจำลองคลื่นด้วยแบบจำลอง SWAN มีการปรับเทียบและสอบทานข้อมูลจากแบบจำลองกับข้อมูลตรวจวัดจากทุ่นสมุทรศาสตร์ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ ในปี พ.ศ.2540 – 2545 ที่สถานีสถานีหัวหิน, สถานีเพชรบุรี และสถานีเกาะสีชัง กระแสน้ำเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลงและกระแสน้ำสุทธิที่เป็นผลรวมของน้ำขึ้นน้ำลงและคลื่นลมจากแบบจำลอง Delft3D ถูกปรับเทียบและสอบทานโดยใช้ระดับน้ำจากแบบจำลองกับข้อมูลระดับน้ำทำนายของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2549 – 2559 ที่สถานีหัวหิน, สถานีสันดอนเจ้าพระยา, สถานีเกาะสีชัง และสถานีอ่าวสัตหีบ จากการศึกษาคลื่นและกระแสน้ำพบว่ากระแสน้ำที่เป็นอิทธิพลหลักบริเวณอ่าวไทยตอนบนคือกระแสน้ำเนื่องจากอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง จึงใช้กระแสน้ำเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลงในการศึกษาการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลต่อไป
การศึกษาการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลอ่าวไทย ทำการปรับเทียบและสอบทานแบบจำลอง GNOME ด้วยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2562 พบว่าการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันมีทิศทางสอดคล้องกับทิศทางของลม ในการศึกษานี้ประยุกต์ใช้แบบจำลองโดยการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันในช่วงน้ำเกิดและน้ำตายรายเดือน ทำให้สามารถประมาณช่วงเวลาและตำแหน่งที่น้ำมันเคลื่อนที่กระทบชายฝั่งทะเล และสรุปได้ว่าการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันที่รั่วไหลมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยของชนิดน้ำมัน, คุณสมบัติการแพร่กระจายของน้ำมัน, ข้อมูลลม และข้อมูลกระแสน้ำในทะเล