Abstract:
ปัญหาคนกับช้างป่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัยของคน จึงมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และทำให้แหล่งอาหารของช้างป่าลดลง ช้างป่าจึงออกมากินผลผลิตภายในไร่ของชาวบ้าน ชุมชนจึงมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาในลักษณะต่างๆ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาคนกับช้างป่าและผลกระทบจากช้างป่าต่อการดำรงชีพของชุมชนบ้านรวมไทย และศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่าในบริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า และเจ้าหน้าที่หน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาคนกับช้างป่าในพื้นที่ชุมชนหมู่บ้านรวมไทย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่ามาทำการเกษตรปลูกไร่สับปะรด เป็นสาเหตุที่ดึงดูดช้างป่าให้เข้ามาในพื้นที่และทำให้พฤติกรรมของช้างป่าเปลี่ยนแปลงไป จากการอพยพหาแหล่งอาหารในป่าลึก มาเป็นการปักหลักอยู่กับที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านทรัพยากรธรรมชาติ คือ ผลผลิตทางการเกษตร ถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อด้านการเงิน เพราะผลผลิตที่ถูกทำลายคือรายได้ของชาวบ้านที่จะได้รับ ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพร่างกายและใจ เนื่องด้วยชาวบ้านต้องปกป้องผลผลิตทางเกษตร จึงต้องไปนอนเฝ้าไร่ตลอดทั้งคืน เกิดการอ่อนล้า อ่อนเพลีย หวาดระแวง และวิตกกังวล ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงเกิดวิธีการแก้ไขการแก้ไขปัญหาโดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดขั้นตอนการทำงาน ดังนี้ 1) การค้นหาปัญหา โดยให้ข้อมูลผลกระทบที่ได้รับ ทรัพยากรที่มี และปัญหาการปฏิบัติงาน 2) การวางแผน โดยการจัดตั้งและบริหารชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมคิดกิจกรรมท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า กำหนดกฎระเบียบสำหรับมัคคุเทศก์ท้องถิ่นและผู้ขับรถนำชมสัตว์ป่า 3) การดำเนินการ โดยร่วมบริหารจัดการชมรมฯ การบริการนักท่องเที่ยว และช่วยเหลืองานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า 4) การรับและแบ่งปันผลประโยชน์ โดยได้ค่าตอบแทนเมื่อเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงาน และได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในกรณีเกิดเหตุร้ายแรง และ 5) การประเมินผล โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงาน และรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงงาน โดยระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่ในขั้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นำมาซึ่งผลกระทบด้านสังคม ที่ทำให้ชุมชนเกิดกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ภายในชุมชน ข้อมูลความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่าเพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะประเทศไทยมีหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน