Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กอนุบาลที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน 2) เพื่อวิเคราะห์โมเดลสมการเชิงโครงสร้างพหุระดับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มของเด็กอนุบาลและตรวจสอบความสอดคล้องข้อมูลเชิงประจักษ์ 3) เพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของตัวแปรในระดับห้องเรียนที่มีผลต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กอนุบาล 4) เพื่อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มของเด็กอนุบาลสำหรับผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารและศึกษานิเทศก์ ตัวอย่างประกอบด้วยนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 2864 คน และครูที่สอนนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 53 คน ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงเรียนจำนวน 35 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร สุ่มตัวอย่างโดยใช้วิธีการแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลนักเรียน แบบสอบถามสำหรับครู การวิเคราะห์สถิติบรรยายด้วยโปรแกรม SPSS และการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างพหุระดับ ด้วยโปรแกรม Mplus
ผลการวิจัยพบว่า 1) เด็กอนุบาลที่มาจากครอบครัวที่มีภูมิหลังด้านเศรษฐานะต่างกันส่งผลต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มต่างกัน 2) โมเดลสมการเชิงโครงสร้างพหุระดับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มของเด็กอนุบาลที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (χ2 = 258.664, p = .00, χ2/df = 2.694, CFI = 0.847, TLI = 0.751, RMSEA = .024, SRMRw= 0.242, SRMRb= 0.062) โดยระดับนักเรียนพบว่า สภาพแวดล้อมทางด้านภาษาที่บ้านมีอิทธิพลทางตรงเชิงลบและพัฒนาการของเด็กมีอิทธิพลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มของเด็กอนุบาล 3) ตัวแปรในระดับห้องเรียนที่มีผลต่อการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กอนุบาล พบว่า การจัดสภาพแวดล้อมทางภาษาในห้องเรียน และสมรรถนะการสอนภาษาของครูมีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตัวแปรทำนายทั้งหมดในระดับนักเรียนและระดับห้องเรียนสามารถอธิบายความแปรปรวนของการเรียนรู้ภาษาระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กอนุบาลได้ร้อยละ 24 และ 95 ตามลำดับ 4) ผลการวิเคราะห์จากโมเดลการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาในห้องเรียนอนุบาล นำไปสู่ข้อเสนอแนะ 3 แนวทาง ดังนี้ (1) ผู้ปกครองไม่ควรเคร่งครัดด้านวิชาการที่บ้านกับเด็กมากเกินไปแต่ควรตระหนักถึงพัฒนาการที่สมวัยของเด็ก (2) ครูควรตระหนักถึงการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้มีความน่าสนใจด้วยการเปิดโอกาสให้มีประสบการณ์ทางภาษาที่หลากหลาย การอ่านหนังสือกับเด็กและการมีแหล่งทรัพยากรทางภาษาในห้องเรียน สำหรับตัวครูผู้สอนควรจะมีพื้นฐานด้านการสอนภาษาสำหรับเด็กอนุบาลและครูควรมีความถนัดและรักในการสอนภาษา (3) ผู้บริหารและต้นสังกัดควรกำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารและศึกษานิเทศก์เข้าใจถึงการจัดการเรียนการสอนภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้ตรงกัน