Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษากรอบแนวคิดสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษา 2) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคามของการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน และ 3) พัฒนากลยุทธ์การบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธีพหุระยะ ตัวอย่างคือโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 292 โรงเรียน ผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และนักเรียน รวมจำนวน 876 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวิเคราะห์เอกสาร แบบประเมินกรอบแนวคิด แบบสอบถาม แบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของกลยุทธ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับวัตถุประสงค์ ค่าความเที่ยงแบบความสอดคล้องภายใน ค่าดัชนีความต้องการจำเป็น การทดสอบความแปรปรวน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) กรอบแนวคิดสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษา ประกอบด้วย 2 กรอบแนวคิด ได้แก่ 1.1) กรอบแนวคิดสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1.1.1) ด้านการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ 1.1.2) ด้านการรับมือกับความตึงเครียดและภาวะวิกฤต และ 1.1.3) ด้านการแสดงความรับผิดชอบ 1.2) กรอบแนวคิดการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษา ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.2.1) ด้านการออกแบบหลักสูตร 1.2.2) ด้านการจัดการเรียนรู้ 1.2.3) ด้านการวัดและประเมินผล และ 1.2.4) ด้านสนับสนุนสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ 2) จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคามของการบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ประกอบด้วย 2 ประเด็น ได้แก่ 2.1) สมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน 2.1.1) จุดแข็งรายด้านคือ ด้านการแสดงความรับผิดชอบ 2.1.2) จุดอ่อนรายด้าน ประกอบด้วย 2 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการสร้างคุณค่าใหม่ และ (2) ด้านการรับมือกับความตึงเครียดและภาวะวิกฤต ตามลำดับ 2.1.3) จุดแข็งรายข้อ ประกอบด้วย 5 ข้อ ได้แก่ (1) ความสามารถในการปรับตัว (2) การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม (3) ความสามารถในการแก้ปัญหา (4) การตระหนักรู้ในตนเอง และ (5) ความคิดสร้างสรรค์ ตามลำดับ 2.1.4) จุดอ่อนรายข้อ ประกอบด้วย 5 ข้อ ได้แก่ (1) ความร่วมมือ (2) การสะท้อนคิด (3) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (4) ความยืดหยุ่นทางความคิดและจิตใจ และ (5) ความอยากรู้อยากเห็น ตามลำดับ 2.2) การบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษา 2.2.1) จุดแข็งรายด้าน ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการจัดการเรียนรู้ (2) ด้านการสนับสนุนสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ และ (3) ด้านการวัดและประเมินผล ตามลำดับ 2.2.2) จุดอ่อนรายด้าน คือด้านการออกแบบหลักสูตร 2.2.3) จุดแข็งรายข้อ ประกอบด้วย 6 ข้อ ได้แก่ (1) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสริมหลักสูตร (2) การสนับสนุนสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ภายนอกสถานศึกษา (3) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้กิจกรรมเสริมหลักสูตร (4) การสนับสนุนสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษา (5) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตร และ (6) การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร ตามลำดับ 2.2.4) จุดอ่อนรายข้อ ประกอบด้วย 2 ข้อ ได้แก่ (1) การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และ (2) การกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร ตามลำดับ 2.2.5) โอกาสคือ ด้านเทคโนโลยี และ 2.2.6) ภาวะคุกคาม ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านสภาพเศรษฐกิจ (2) ด้านสภาพสังคม และ (3) ด้านการเมืองและนโยบายของรัฐ ตามลำดับ และ 3) กลยุทธ์การบริหารวิชาการโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก 8 กลยุทธ์รอง และ 32 วิธีการ ได้แก่ 3.1) กลยุทธ์หลักที่ 1 พลิกโฉมการออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ด้านการรับมือกับความตึงเครียดและภาวะวิกฤตและด้านการแสดงความรับผิดชอบ 3.2) กลยุทธ์หลักที่ 2 ยกระดับการจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ด้านการสร้างคุณค่าใหม่ ด้านการรับมือกับความตึงเครียดและภาวะวิกฤต และด้านการแสดงความรับผิดชอบ 3.3) กลยุทธ์หลักที่ 3 ปรับกระบวนทัศน์การวัดและประเมินผลที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ด้านการสร้างคุณค่าใหม่และด้านการแสดงความรับผิดชอบ และ 3.4) กลยุทธ์ที่ 4 สร้างระบบนิเวศสื่อ เทคโนโลยี นวัตกรรม และแหล่งเรียนรู้ที่เสริมสร้างสมรรถนะการเปลี่ยนของนักเรียน ด้านการสร้างคุณค่าใหม่ ด้านการรับมือกับความตึงเครียดและภาวะวิกฤต และด้านการแสดงความรับผิดชอบ