Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษากรอบแนวคิดของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน และสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ 2. ศึกษาระดับสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพของผู้บริหารโรงเรียน 3. ศึกษาความต้องการจำเป็นของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนตามแนวคิดสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ และ 4. พัฒนานวัตกรรมการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนตามแนวคิดสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมวิธีพหุระยะ แบ่งเป็น 4 ระยะ กลุ่มตัวอย่าง คือ โรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 394 โรงเรียน จากประชากรทั้งหมดจำนวน 25,893 โรงเรียน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ผู้ให้ข้อมูลในการตอบแบบประเมินและแบบสอบถาม คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 330 คน และ 320 คน ตามลำดับ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมิน แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และความต้องการจำเป็น
ผลการวิจัย พบว่า 1. กรอบแนวคิดของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียน ประกอบด้วย 2 รูปแบบการพัฒนาคือ 1) การพัฒนาระหว่างเวลาการปฏิบัติงาน ได้แก่ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การมอบหมายงาน การหมุนเวียนงาน การทำงานร่วมกับองค์กรหรือชุมชนอื่น ๆ การสอนงานและการเป็นพี่เลี้ยง และ 2) การพัฒนานอกเวลาการปฏิบัติงาน ได้แก่ การเรียนในชั้นเรียนหรือคอร์สเรียนต่าง ๆ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเข้าร่วมประชุม/ฝึกอบรม/สัมมนา สถานการณ์จำลอง/บทบาทสมมติ การทัศนศึกษา/การเยี่ยมชม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากชุมชนแห่งการปฏิบัติ กรอบแนวคิดสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ ประกอบด้วย 1) ความสามารถด้านการส่งเสริมการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย 2) ความสามารถด้านการพัฒนาหลักสูตรและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย 3) ความสามารถด้านการจัดการระบบการสังเกต คัดกรอง การวัดและประเมินผล และการจัดทำสารนิทัศน์สำหรับเด็กปฐมวัย 4) ความสามารถด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัย และโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย 5) ความสามารถด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์ และการแนะแนวเด็กปฐมวัยและครอบครัว 6) ความสามารถด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 7) ความสามารถด้านการมีภาวะผู้นำทางการศึกษาปฐมวัย 8) ความสามารถด้านการพัฒนาทางวิชาชีพปฐมวัย 9) ความสามารถด้านการบริหารจัดการและการนิเทศด้านปฐมวัย 2. ระดับสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ พบว่า ความสามารถด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัย และโภชนาการสำหรับเด็กปฐมวัย มีค่าเฉลี่ยสูงสุด และความสามารถด้านการส่งเสริมการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3. ความต้องการจำเป็นของการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนตามแนวคิดสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ พบว่า รูปแบบการพัฒนานอกเวลาการปฏิบัติงานมีค่าความต้องการจำเป็นสูงสุด และวิธีการพัฒนาที่มีค่าความต้องการจำเป็นสูงสุดคือ การเข้าร่วมประชุม ฝึกอบรม สัมมนา 4. นวัตกรรมการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนตามแนวคิดสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ มีชื่อว่า “นวัตกรรมการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนแบบผสมผสานระหว่างการพัฒนานอกเวลาการปฏิบัติงานและการพัฒนาระหว่างเวลาการปฏิบัติงานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะนักการศึกษาปฐมวัยมืออาชีพ” ประกอบด้วย 5 โมดูล ซึ่งแต่ละโมดูลประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย เนื้อหา ระยะเวลา รูปแบบและวิธีการพัฒนา และการวัดและประเมินผล