Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการสอนเด็กออทิสติกให้เข้าใจเรื่องความเชื่อที่ผิด และ 2) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลของความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้เรื่องความเชื่อที่ผิดของเด็กออทิสติกไปสู่เรื่องความเชื่อที่ผิดในรูปแบบที่ได้รับการสอนและในรูปแบบที่ไม่ได้รับการสอน ทั้งในการวัดผลทันทีหลังการสอนและในการวัดติดตามผลหลังการสอน 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กออทิสติก จำนวน 30 คน อายุ 4 -15 ปี แบ่งเด็กออทิสติกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้รับการสอนเรื่องความเชื่อที่ผิดในรูปแบบการเปลี่ยนสถานที่ จำนวน 15 คน และกลุ่มที่ได้รับการสอนเรื่องความเชื่อที่ผิดในรูปแบบการเปลี่ยนสิ่งของ จำนวน 15 คน โดยสอนทั้งหมด 5 วันต่อเนื่องกัน วันละ 5 เรื่อง และทดสอบความเข้าใจเรื่องความเชื่อที่ผิดทั้งสองรูปแบบเพื่อทดสอบความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้เรื่องความเชื่อที่ผิด และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า 1. เด็กออทิสติกสามารถรับการสอนให้เข้าใจเรื่องความเชื่อที่ผิดได้ในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง 2. เด็กออทิสติกที่ได้รับการสอนเรื่องความเชื่อที่ผิดในรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ รูปแบบการเปลี่ยนสถานที่และรูปแบบการเปลี่ยนสิ่งของ มีความสามารถในการถ่ายโยงการเรียนรู้เรื่องความเชื่อที่ผิดไปสู่เรื่องในรูปแบบที่ได้รับการสอนได้ดีกว่าเรื่องในรูปแบบที่ไม่ได้รับการสอนทั้งในการวัดผลทันทีหลังการสอนและการวัดติดตามผลหลังการสอน 1 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01