Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับอำนาจควบคุมตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,134 คน ได้รับการสุ่มเลือกจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลจำนวน 6 โรงเรียน หลังการตอบแบบวัดอำนาจควบคุมตนของ Nowicki & Strickland (1973) แล้วกลุ่มตัวอย่างได้รับการแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม โดยเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในตน จำนวน 150 คน (คะแนนเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 1-20) และเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายนอกตนอีก 150 คน (คะแนนเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 80-100) จากนั้นให้ทั้ง 2 กลุ่มทำแบบวัดการเห็นคุณค่าในตนเองของ Coopersmith (1967) และแบบสอบการคิดอย่างมีวิจารณญาณตามแนวคิดของ Ennis และ Millman (1985) นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์การจำแนกกลุ่ม (Discriminant Analysis) ด้วยวิธีการวิเคราะห์แบบขั้นตอน (Stepwise) โดยใช้สถิติวิลค์สแลมดา (Wilks' Lambda) เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแปรเข้าวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยทั้ง 2 ปัจจัย คือ การเห็นคุณค่าในตนเองและการคิดอย่างมีวิจารณญาณสามารถอธิบายความแปรปรวนของการเป็นสมาชิกระหว่างกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายในตนและกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจควบคุมภายนอกตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้ถึงร้อยละ 62.4 ดังนี้ คือ การเห็นคุณค่าในตนเอง (Ci=0.871) และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Ci=0.518) และจำนวนเปอร์เซ็นต์ของประสิทธิภาพในการทำนายการเป็นสมาชิกกลุ่มอำนาจควบคุมของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่ากับ 90.3