Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของแนวคิดธรรมาภิบาลในสังคมไทย ในมุมมองของภาครัฐ เอกชน และประชาชนต่อกรณีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหิน "หินกรูด" โดยประยุกต์แนวคิดธรรมาภิบาลในการอธิบายปรากฏการณ์ความขัดแย้งของกรณีดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อพัฒนาแบบจำลองเชิงปฏิบัติการ และข้อเสนอแนะเชิงทฤษฎีสำหรับแนวคิดธรรมาภิบาลในสังคมไทย โดยผู้วิจัยใช้องค์ประกอบธรรมาภิบาล 8 ประการที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งประกอบด้วยหลักนิติธรรม ความรับผิดชอบ ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ ความคุ้มค่า การมีส่วนร่วม ความเสมอภาค และฉันทานุมัติมาเป็นกรอบในการวิจัย โดยวิเคราะห์ผ่านบทบาทของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผลของการวิจัยที่ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant) ซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับโครงการโรงไฟฟ้า "หินกรูด" วิเคราะห์ได้ว่า หลักนิติธรรมคือศูนย์กลางของหลักต่างๆ ในการสร้างธรรมาภิบาลในมุมมองของภาครัฐ จะเห็นได้ว่าในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดนี้ ประเด็นในการอ้างอิงและชี้แจงของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเน้นในเรื่องของสัญญาที่ผูกพันกับคู่สัญญา และการดำเนินการโครงการที่ชอบธรรมตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญเดิม ในส่วนของภาคเอกชน หลักธรรมาภิบาลที่ภาคเอกชนยึดถือและให้ความสำคัญเป็นพิเศษมากกว่าหลักอื่นๆ คือหลักนิติธรรมและหลักความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในขณะที่หลักการมีส่วนร่วมคือหัวใจของภาคประชาชนในการที่จะสร้างธรรมาภิบาล ภาคประชาชนเห็นว่าประชาชนควรได้รับโอกาสการมี ส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการกำหนดนโยบาย การพิจารณา ตลอดจน ขั้นตอนของดำเนินการโครงการ จากแบบจำลองที่ได้จากการวิเคราะห์ปรากฏการณ์กรณี หินกรูด ในทัศนะของภาคประชาชนแล้วหลักอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการสร้างธรรมาภิบาล เป็นแค่ส่วนประกอบที่อยู่รายรอบหลักการมีส่วนร่วมเท่านั้น