Abstract:
จากปัญหาการระบาดของโรคเลปโตสไปโรสิสในคนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เป็นเวลาติดต่อกัน 3-4 ปีของจังหวัดบุรีรัมย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าแหล่งโรค (source of infection) ของเชื้อเลปโตสไปร่ายังคงอยู่และมีการวนเวียนของเชื้อในพื้นที่ แหล่งโรคนั้นอาจเป็นสัตว์นำโรค (carrier) ที่ปล่อยเชื้อออกจากร่างกายแล้วเกิดการปนเปื้อนของเชื้อในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแหล่งน้ำ จุดประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เป็นการสำรวจหาแหล่งโรค ทั้งในสัตว์นำโรค (เช่น โค กระบือ สุกร สุนัข หนู) และแหล่งน้ำที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อเลปโตสไปร่า โดยการตรวจหาเชื้อเลปโตสไปร่าด้วยเทคนิคลูกโซ่โพลิเมอเรส (Polymerase Chain Reaction, PCR และการเพาะเชื้อจากปัสสาวะสัตว์ ไตหนู และน้ำจากแหล่งน้ำที่สงสัย จำนวน 244 ตัวอย่าง ซึ่งให้ผลลบต่อการตรวจทั้งหมด และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับการตรวจทางซีโรโลยีด้วยเทคนิค Microscopic Agglutination Test (MAT) ด้วยการวัดระดับไตเตอร์ของร่างกายต่อเชื้อเลปโตสไปร่า 24 ซีโรกรุ๊ป จำนวน 340 ตัวอย่างที่ระดับไตเตอร์เริ่มต้น 1:20 พบว่าสัตว์ในพื้นที่ให้ผลบวกต่อการตรวจ 38 (11.1%) ตัวอย่าง แบ่งเป็นโค 21 ตัวอย่าง กระบือ 12 ตัวอย่าง สุกร 3 ตัวอย่าง และสุนัข 2 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่พบมีแอนติบอดี้ต่อเชื้อ Leptospira interogans serovar ballum 38.2%, bratislava 12.7% ที่เหลือได้แก่ hebdomadis, patoc, sejroe, autumnalis และ icterohaemorrhagiae จากผลการตรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรคเลปโตสไปโรสิสเป็นโรคประจำถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ผลการตรวจหาเชื้อเลปโตสไปร่าในสิ่งส่งตรวจให้ผลลบทั้งหมดนั้น สันนิษฐานได้ว่าในการศึกษาครั้งนี้สัตว์และแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่ใช่แหล่งโรค ที่เป็นสาเหตุของการระบาดของโรคในคน แต่จากรายงานจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิสในพื้นที่ที่สูงขึ้น อาจเกิดจากการวินิจฉัยโรคผิดพลาด ซึ่งต้องมีการศึกษาหาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป