Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษา บทบาทด้านการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) โดยการศึกษาจะเป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบจากผลลัพธ์กรณีความขัดแย้งทางการค้าต่างๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคีที่ผ่านเวทีของ GATT/WTO อันได้แก่ กรณีพิพาทเรื่องบุหรี่และกุ้งทะเล ระหว่างปี ค.ศ. 1985-1999 วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบว่า ระหว่างการระงับข้อพิพาทของ WTO กับการแก้ไขปัญหาทางการค้าระดับทวิภาคี วิธีการใดจะเป็นประโยชน์ต่อไทยมากกว่า สำหรับกรอบความคิดที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ทฤษฎีระบอบและแนวความคิดเรื่องอำนาจและการพึ่งพาอาศัยกัน การศึกษาพบว่า การเจรจาสองฝ่ายเกี่ยวกับกรณีพิพาททางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ประโยชน์จะตกแก่สหรัฐอเมริกา ขณะที่การแก้ไขปัญหากรณีพิพาทในระดับพหุภาคี โดยผ่าน GATT/WTO ในกรณีบุหรี่และกุ้งทะเล ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะว่า การตัดสินใจของ GATT/WTO ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก บทบัญญัติ หลักการ และกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของรัฐสมาชิก จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติตามจากรัฐสมาชิกทุกรัฐรวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย