Abstract:
ศึกษาในห้องปฏิบัติการเพื่อเปรียบเทียบการสูญเสียแร่ธาตุของรอยโรคจุดขาวใน ชั้นเคลือบฟันของฟันกรามถาวรที่สัมผัสกับวัสดุบูรณะชนิดปลดปล่อยฟลูออไรด์ 3 ชนิด โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองได้แก่ กลาสไอโอโนเมอร์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซินผลิตภัณฑ์ Fuji II LCR capsule เรซิน คอมโพสิตชนิดดัดแปลงด้วยโพลีแอซิดผลิตภัณฑ์ CompoglassR Flow เรซินคอมโพสิตชนิดผสมฟลูออไรด์ ผลิตภัณฑ์ HeliomolarR กับวัสดุบูรณะชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุม ได้แก่ เรซินคอมโพสิตชนิดไม่ผสมฟลูออไรด์ผลิตภัณฑ์ Z 250R และศึกษาเปรียบเทียบการสูญเสียแร่ธาตุของรอยโรคจุดขาวที่สัมผัสกับวัสดุแต่ละชนิดในกลุ่มทดลอง โดยใช้ฟันกรามถาวรจำนวน 60 ชิ้นขนาด 2x4 ตารางมิลลิเมตร นำไปทำให้เกิดรอยโรคจุดขาวด้วยการแช่ชิ้นเคลือบฟันในสารละลายสำหรับทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ นำสารละลายไปวัดหาปริมาณแคลเซียมด้วยเครื่องอะตอมมิกแอบซอร์พชันสเปกโทรโฟโตมิเตอร์ เพื่อจัดแบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม นำชิ้นเคลือบฟันไปสัมผัสกับวัสดุบูรณะ 4 ชนิด แล้วไปผ่านกระบวนการจำลองสภาวะการเปลี่ยนแปลง ความเป็นกรด-ด่างภายในช่องปากเป็นเวลา 30 วัน โดยแช่ในสารละลายสำหรับทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุ วันละ 2.5 ชั่วโมง และแช่ในสารละลายสำหรับทำให้เกิดการผันกลับแร่ธาตุวันละ 21.5 ชั่วโมง ภายหลังทดลองครบ 30 วัน นำชิ้นเคลือบฟันแยกออกจากชิ้นวัสดุ แช่ชิ้นเคลือบฟันในสารละลายสำหรับทำให้เกิดการสูญเสีย แร่ธาตุ 96 ชั่วโมง นำสารละลายไปวัดปริมาณแคลเซียม และทำการวิเคราะห์ทางสถิติเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยแคลเซียมของชิ้นเคลือบฟันหลังสัมผัสกับวัสดุบูรณะ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มชิ้นเคลือบฟันที่สัมผัสกับ Fuji II LCR capsule, CompoglassR Flow, HeliomolarR และ Z 250R มีค่าเฉลี่ยแคลเซียม +- ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในสารละลายเท่ากับ 220.32 +- 2.51, 221.18 +- 2.55, 224.05 +- 2.36 และ 224.41 +- 4.34 ไมโครโมลต่อตารางเซนติเมตรตามลำดับ เมื่อวิเคราะห์ ค่าเฉลี่ยแคลเซียมของกลุ่มทดลองเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วยสถิติแมนน์วิทนีย์ (Mann-Whitney U Test) พบว่ากลุ่มชิ้นเคลือบฟันที่สัมผัสกับ Fuji II LCR capsule และ CompoglassR Flow มีค่าเฉลี่ยแคลเซียม น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยปริมาณแคลเซียมระหว่างกลุ่มทดลองด้วยสถิติครูสคัลวัลลิส (Kruskal Wallis H Test) และแมนน์วิทนีย์พบว่า กลุ่มชิ้นเคลือบฟันที่สัมผัสกับ Fuji II LCR capsule และ CompoglassR Flow มีค่าเฉลี่ยแคลเซียมน้อยกว่ากลุ่มชิ้นเคลือบฟันที่สัมผัสกับ HeliomolarR อย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าวัสดุบูรณะที่สามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ได้มากกว่าจะลดการสูญเสียแร่ธาตุของรอยโรคจดขาวที่สัมผัสกับวัสดุได้มากกว่า อย่างไรก็ตามต้องมีมีการศึกษาเพิ่มเติมทั้งในห้องปฏิบัติการและทางคลินิกต่อไป