Abstract:
จุดมุ่งหมายของงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาการประหยัดจากขนาดและจากการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย จำนวน 61 บริษัท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536-2541 โดยจะศึกษาภาพรวมของธุรกิจ และแบ่งขนาดบริษัทเป็นบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กด้วยเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ในงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษา 4 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ การประกันอัคคีภัย การประกันภัยตัวเรือและสินค้า การประกันภัยรถยนต์ และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด ซึ่งใช้แบบจำลอง Translog Cost Function ร่วมกับสมการส่วนแบ่งต้นทุน (Cost Share Equations) และในการประมาณค่าใช้วิธี Iterative Seemingly Unrelated Regression ทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ต้นทุนการดำเนินงาน ผลผลิต โดยแบ่งตัวแทนผลผลิตเป็น 2 กรณี คือเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน และปัจจัยการผลิต ประกอบด้วย ปัจจัยแรงงาน ปัจจัยทุนและวัตถุดิบ ปัจจัยทุนทางการเงิน และปัจจัยอื่นๆ ผลการศึกษาพบว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบและเมื่อแบ่งตามขนาดบริษัท มีการประหยัดจากขนาดการผลิตโดยรวมทั้ง 2 กรณีตัวแทนผลผลิต สำหรับการประหยัดจากขนาดการผลิตโดยเฉพาะแต่ละประเภทพบว่าควรขยายการรับประกันภัยตัวเรือและสินค้าเพิ่มมากกว่าการรับประกันภัยประเภทอื่น เนื่องจากยังใช้ปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ไม่เต็มประสิทธิภาพ และพบว่าปัจจัยแรงงานโดยเฉพาะตัวแทนและนายหน้ารับประกันภัยเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญต่อธุรกิจดังกล่าวด้วย ผลการศึกษาการประหยัดจากการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ และแบ่งตามขนาดบริษัททั้ง 2 ขนาดพบว่า การใช้ปัจจัยการผลิตทุกประเภทร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมการรับประกันภัยและการลงทุนนั้นไม่ก่อให้เกิดการประหยัดจากการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นไปได้ที่ว่าการนำปัจจัยการผลิตมาใช้ร่วมกันนั้น มิได้ก่อให้เกิดการประหยัด เมื่อธุรกิจประกันวินาศภัยขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจไปในประเภทอื่นๆ