Abstract:
เป้าหมายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการสร้างหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึง
บริการทางด้านสุขภาพตามความจำเป็น การบริการปฐมภูมิเป็นกิจกรรมหนึ่งของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ซึ่งเน้นการดูแลสุขภาพตนเอง บุคคล ครอบครัว และชุมชน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของแกนนำสุขภาพประจำ ครอบครัว
จึงเป็นตัวเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน กับบริการสาธารณสุขของรัฐ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของแกนนำสุขภาพประจำ
ครอบครัวในการดูแลสุขภาพประชาชน ในด้านการศึกษาชุมชน การวางแผน การดำเนินกิจกรรม และการประเมินผล
โดยเก็บข้อมูลระหว่าง ธันวาคม 2545 - กุมภาพันธ์ 2546 กลุ่มตัวอย่างเป็นแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวของ
จังหวัดสระแก้ว สุ่มโดยวิธี Multistage Sampling จำนวน 900 คน ตอบกลับจำนวน 806 คน(ร้อยละ 89.6) วิเคราะห์
ข้อมูลด้วยสถิติ Unpaired t-test และ One- way ANOVA
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชาย(ร้อยละ 53.7) อายุ 41-60 ปี(ร้อยละ 42.3) สถานภาพสมรสคู่
(ร้อยละ 82.5) อาชีพเกษตรกรรม(ร้อยละ 67.9) การศึกษาระดับประถมศึกษา(ร้อยละ 79.4) รายได้ต่ำกว่า 5,000
บาทต่อเดือน(ร้อยละ 83.9) ระยะเวลาเป็นแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว 3 ปี(ร้อยละ 84.9) เป็นแกนนำสุขภาพ
ประจำครอบครัวอย่างเดียว(ร้อยละ 47.3) มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพอยู่ในระดับปานกลาง(คะแนนเฉลี่ย 2.54)
เมื่อพิจารณารายด้านพบว่ามีส่วนร่วมด้านการดำเนินกิจกรรมมากที่สุด(คะแนนเฉลี่ย 2.59) น้อยที่สุดด้านการวางแผน
(คะแนนเฉลี่ย 2.33 ) เพศ สถานภาพสมรสที่แตกต่างกัน มีส่วนร่วมด้านการดำเนินกิจกรรม การศึกษาชุมชน และ
การวางแผน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ( p<0.01 ) อายุที่แตกต่างกันมีส่วนร่วมด้านการวางแผน และด้าน
การดำเนินกิจกรรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ( p<0.05 ) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการมีส่วนร่วม
ของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวที่มีบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแกนนำสุขภาพประจำ
ครอบครัวที่ไม่มีบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พบว่า มีส่วนร่วมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทาง
สถิติ(p<0.001) โดยที่แกนนำสุขภาพประจำครอบครัวที่มีบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีคะแนน
เฉลี่ยสูงกว่าแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวที่ไม่มีบทบาทเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทุกด้าน
ผลการศึกษาครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานของศูนย์สุขภาพชุมชน
เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรการอบรม พัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ปรับเปลี่ยนกลวิธีในการ
สนับสนุนการมีส่วนร่วมของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในด้านการศึกษาชุมชน การวางแผน การดำเนินกิจกรรม
และการติดตามประเมินผล เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ในการดูแลสุขภาพ