Abstract:
ในปี 2545 รัฐบาลมีนโยบายหลักคือเป็น ปีแห่งการเริ่มต้นรณรงค์สร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมายคือ พัฒนาให้เกิดศูนย์สุขภาพชุมชน (ศสช.) ที่สถานีอนามัยต่างๆ จำนวน 4,500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยให้บริการสุขภาพด่านแรก ที่ใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาความคิดเห็นของทีมบริการสุขภาพที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน ต่อการให้บริการสุขภาพตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2545ร การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง กลุ่มประชากรที่ศึกษา ทีมบริการสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ฯลฯ จำนวน 1,145 คน ที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน ในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 369 แห่ง ขนาดตัวอย่าง ทีมบริการสุขภาพตอบกลับ 802 คน จากทั้งหมด 1,145 คน คิดเป็นอัตราการตอบกลับ 70%เครื่องมือในการวิจัย แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง สถิติที่ใช้ : Unpaired t-tests, Paired t-tests, Wilcoxon Signed Ranks test, and One - way ANOVA ผลการศึกษาทีมบริการสุขภาพส่วนใหญ่เป็นหญิง 525 คน (65.4%) มีอายุ 21 40 ปี (80.1%) มีสถานภาพสมรสคู่ (63.0%)จบการศึกษาปริญญาตรี (57.5%) ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่บริหารสาธารณสุข (34.4, 23.3, และ 21.7% ตามลำดับ) มีบทบาทหน้าที่หลัก คืองานบริการ (59.2%) โดยมีระยะเวลาปฏิบัติงานใน ศสช. 6-12 เดือน (60.2%) ปฏิบัติงานแบบประจำ (87.7%) เคยผ่านการ อบรมงาน ศสช. (82%) ทีมบริการสุขภาพ กว่า 50% ให้คะแนนเฉลี่ยความสำคัญทั้ง 11 กระบวนการ ค่อนไปทางสูง ในทางกลับกันการปฏิบัติงานจริงต่ำกว่าทุกกระบวนการ โดยมีกระบวนการที่ 2 การลงทะเบียน / คัดกรอง ที่มีการปฏิบัติงานสูงสุด (51.7%) เมื่อวิเคราะห์ลึกถึงดัชนีกิจกรรม 45 ข้อ ใน 11 กระบวนการ พบว่า 3 อันดับแรกที่สำคัญมากที่สุด ได้แก่ 1) การบริการมุ่งเน้นความปลอดภัย 2) ปฏิบัติงานบริการหลัก 3) การอำนวยความสะดวก โดยที่การปฏิบัติงานจริงซึ่งยังมีน้อย 3 อันดับสุดท้าย คือ 1) การประเมินผลการดำเนินงาน 2) สรุปผลการเยี่ยมบ้าน 3) การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วน 24 ชั่วโมง และยังพบว่าในด้านการให้ความสำคัญมีผลแตกต่างกันตาม อายุ สถานภาพสมรส การศึกษา ตำแหน่ง ระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ( p < 0.05) จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า กิจกรรมที่ทีมบริการสุขภาพให้คะแนนเฉลี่ยความสำคัญสูงนั้น ควรจะนำไปสู่การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานงานหลัก สำหรับผู้ปฏิบัติงาน และใช้ประโยชน์ ในการติดตามประเมินผล อบรม พัฒนาการทำงาน ส่วนการปฏิบัติงานจริง ที่คะแนนเฉลี่ยยังค่อนข้างต่ำนั้น ควรได้รับการเร่งรัดพัฒนาดัชนีกิจกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานของทีมบริการสุขภาพใน ศสช. ประสบความสำเร็จต่อไป