Abstract:
ศึกษาผลของการเก็บโอโอไซต์ด้วยการใช้เข็มเจาะ ดูด ร่วมกับเครื่องมือคลื่นเสียงความถี่สูงสอดผ่านทางช่องคลอด (โอพียู) ซ้ำหลายครั้ง ในลูกกระบือปลัก (การทดลองที่ 1) และศึกษาความดันสูญญากาศที่เหมาะสมในการเก็บโอโอไซต์ด้วยวิธีโอพียู (การทดลองที่ 2) การทดลองที่ 1 ใช้กระบือเพศเมียก่อนวัยเจริญพันธุ์ อายุ 8-10 เดือน จำนวน 9 ตัว ฝังฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ใบหู 7 วัน ก่อนทำการกระตุ้นด้วย ฟอลลิเคิล สติมูเลติงฮอร์โมน (เอฟเอสเอช) ขนาด 180 มิลลิกรัม แบ่งฉีดเช้าและเย็น 3 วัน (40x40, 30x30, 20x20) ร่วมกับโกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน (จีเอ็นอาร์เอช) ตรวจการตอบสนองของรังไข่หลังกระตุ้นและทำการดูดเก็บโอโอไซต์ด้วยแรงดูด 80-100 mmHg หลังจากฉีดจีเอ็นอาร์เอช 24 ชั่วโมง โดยทำการเก็บห่างกันทุกๆ 2 สัปดาห์ ทั้งหมด 5 ซ้ำรวม 42 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่า ลูกกระบือมีการตอบสนองต่อการกระตุ้น 88.1% (37/42) คิดเป็น 6.6+-3.6 ฟอลลิเคิลต่อตัว (n = 256) โดยขนาดของฟอลลิเคิลที่พบหลังกระตุ้นเฉลี่ยเท่ากับ 5.0+-2.0 มิลลิเมตร
ผลการเก็บโอโอไซต์ที่ได้ในลูกกระบือเท่ากับ 5.4+-3.7 โอโอไซต์ต่อตัว คิดเป็น 82.4% (212/256) จากผลการทดลองที่ 1 พบว่าการเก็บซ้ำไม่มีผลต่ออัตราการเก็บ โดยการเก็บโอโอไซต์ในครั้งที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 ให้อัตราการเก็บเท่ากับ 83.2% (43/50), 82.5% (54/66), 81.3% (42/52), 68.8% (27/36), 87.9% (46.52) ตามลำดับ และคุณภาพของโอโอไซต์แต่ละชนิดในการกระตุ้นแต่ละครั้งไม่แตกต่างกันอย่างมี นัยสำคัญ (P>0.05) ส่วนการทดลองที่ 2 ศึกษาในกระบือสาวที่ไม่เคยได้รับการผสมอายุ 2.5 ปี จำนวน 6 ตัว โดยทำการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอฟเอสเอช ขนาด 280 มิลลิกรัม แบ่งฉีดเช้าและเย็น 3 วัน (60x60, 50x50, 30x30) ทำการศึกษาเปรียบเทียบแรงดันขนาด 60, 80 และ 100 mmHg จำนวน 2 รอบ ห่างกันรอบละ 1 เดือน ผลการศึกษาพบว่า กระบือสาวมีการตอบสนองต่อการกระตุ้น 100% (36/36) คิดเป็น 7.4+-3.6 ฟอลลิเคิลต่อตัว (n = 36) ผลการเก็บพบว่าระดับ 60 mmHg ให้ผลอัตราการเก็บสูงสุดเท่ากับ 84.1% (93/108) เปรียบเทียบกับแรงดัน 80 และ 100 mmHg ซึ่งเท่ากับ 72.8% (53/70), 72.6% (69/89) (P<0.05) แต่คุณภาพโอโอไซต์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน จากการศึกษาทั้ง 2 การทดลองพบว่าการเก็บโอโอไซต์ซ้ำ แบบโอพียูไม่มีผลต่ออัตราการเก็บและคุณภาพของโอโอไซต์ และระดับแรงดันที่เหมาะสมสำหรับการเก็บอยู่ในระดับ 60 mmHg