Abstract:
ประเทศไทยและประเทศลังกามีความสัมพันธ์กันมาหลายร้อยปี สืบเนื่องจากการที่ไทยรับนับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เป็นศาสนาประจำชาติ การติดต่อระหว่างชาติทั้งสองเป็นลักษณะการให้และการตอบแทน กล่าวคือในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ไทยรับนับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จากลังกา และต่อมาเมื่อทางลังกาเกิดปัญหายุ่งยากทางการเมืองในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 หมดสิ้นสมณวงศ์ ฝ่ายไทยได้สนองตอบด้วยการช่วยเหลือก่อตั้งนิกายสยามวงศ์ในลังกา หลังจากนั้นได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทางลังกาได้ขอรับความอุปถัมภ์ทางพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง และยกย่องพระองค์เป็น “อัครศาสนูปถัมภก” ในประเทศตน การวิจัยเรื่องนี้จุดประสงค์ที่จะศึกษาให้ทราบถึง สาเหตุที่ไทยและลังกามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดต่อกันตลอดระยะเวลายาวนาน โดยเน้นในเรื่องความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งได้มีการก่อตั้งนิกายสยามวงศ์ในลังกา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาพบว่า พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาตั้งมั่นและเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมา นับตั้งแต่กรุงสุโขทัยรับนับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์แล้ว ส่วนลังกาซึ่งเป็นประเทศต้นวงศ์มักจะประสบปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การติดต่อระหว่างไทยกับลังกาในปลายสมัยอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น ฮอลันดาซึ่งยึดครองดินแดนในเกาะลังกาบางส่วนอยู่ได้ มีส่วนสนับสนุนให้กษัตริย์ลังกาผู้ปกครองอาณาจักรแคนดีซึ่งยังคงเป็นอิสระ ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากไทยในการฟื้นฟูพุทธศาสนา โดยที่ฮอลันดาหวังผลประโยชน์ในทางการเมืองและการค้า ผลของการติดต่อในช่วงนี้ก็คือ ได้มีการก่อตั้งนิกายสยามวงศ์ ซึ่งเป็นนิกายที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของลังกาแม้กระทั้งทุกวันนี้ ต่อมาลังกาต้องเผชิญกับการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกเป็นเวลานาน จนในที่สุดได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ถึงแม้อังกฤษจะมีนโยบายไม่เบียดเบียนพุทธศาสนา แต่การพุทธศาสนาก็เสื่อมโทรงลง เนื่องจากขาดผู้นำและองค์กรที่จะรวบรวมพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเข้าด้วยกัน เพื่อฟื้นฟูทะนุบำรุงพุทธศาสนาในประเทศของตน คณะสงฆ์ลังกาจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกันคือประเทศไทย ดังที่ได้มีการเสนอที่รับการบวชแปลงเป็นธรรมยุติกนิกาย และการขออยู่ใต้การปกครองคณะสงฆ์จากฝ่ายไทย แม้ความประสงค์ดังกล่าวนี้จะไม่ได้รับการตอบสนองโดยตรง ฝ่ายไทยก็พยายามหาหนทางช่วยเหลือในขอบเขตที่สามารถจะทำได้ สาเหตุที่ฝ่ายลังกาเลือกที่จะขอรับความอุปถัมภ์จากไทยนั้น นอกจากจะเป็นเพราะมีพื้นฐานการนับถือศาสนาแบบเดียวกัน และความมั่นคงของพุทธศาสนาในประเทศไทยแล้ว ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ไทยเป็นชาติที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทเพียงประเทศเดียว ที่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ในขณะนั้น