Abstract:
ที่มา: การฟอกไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกหนึ่งของการบำบัดทดแทนไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปัญหาที่สำคัญสำหรับการฟอกไตคือการเสื่อมสภาพของเยื่อบุผนังช่องท้องที่เกิดจากน้ำยาฟอกไต การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่พบคือ ปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมที่ลดลง เกิดการสะสมของพังผืด และปริมาณเส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมักจะพบร่วมกับความสามารถในการขจัดน้ำและของเสียลดลง วิธีการศึกษา: มีผู้ป่วยฟอกไตทางช่องท้องเข้าร่วมการศึกษา 39 ราย เป็นเพศชาย 22 ราย เพศหญิง 17 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดจะได้รับการตรวจปริมาณเซลล์มีโซทีเลียม และปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมที่ตายจากกระบวนการอะโพโทซีส ในน้ำฟอกไตค้างคืนด้วยวิธีโฟลไซโตมีทรี ร่วมกับทดสอบประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนสสารของเยื่อบุผนังช่องท้องในวันเดียวกัน ผลการศึกษา: พบปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมในน้ำยาฟอกไตค้างท้องที่ค่าเฉลี่ย 0.19 + 0.02 ล้านเซลล์และปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมที่ตายจากระบวนการอะโพโทซีสเฉลี่ย 0.04 + 0.07 ล้านเซลล์ โดยพบว่า ปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมและปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมที่ตายจากกระบวนการอะโพโทซีสมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับค่าสัดส่วนความเข้มข้นของระดับครีตินีนในตัวอย่างน้ำยาฟอกไต ณ เวลาชั่วโมงที่ 4 กับตัวอย่างเลือด (r = 0.62, 0.48) ขณะเดียวกันพบว่าปริมาณเซลล์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์แบบผกผันกันกับค่าสัดส่วนความเข้มข้นของระดับน้ำตาลกลูโคสในตัวอย่างน้ำยาฟอกไต ณ เวลาชั่วโมงที่ 4 กับ ชั่วโมงที่ 0 (r = -0.54, -0.41) และปริมาณการลดลงของความเข้มข้นของโซเดียมในน้ำยาฟอกไต (r = -0.39, -0.41) ในผู้ป่วยเบาหวานที่ฟอกไตทางช่องท้องเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 2 ปี พบว่ามีปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมมมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน (p < 0.01) ขณะที่ไม่พบความแตกต่างของปริมาณเซลล์ดังกล่าวในผู้ป่วยที่ฟอกไตทางช่องท้องนานกว่า 2 ปี สรุปผลการศึกษา: พบว่าปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมและปริมาณเซลล์มีโซทีเลียมที่ตายจากกระบวนการอะโพโทซีสในน้ำยาฟอกไตค้างท้อง มีความสัมพันธ์กับค่าทดสอบประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนสสารของเยื่อบุผนังช่องท้อง และพบว่าในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการเสื่อมของเยื่อบุผนังช่องท้องมีปริมาณเซลล์หลุดลอกออกมาในน้ำยาฟอกไตมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง