Abstract:
วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาวิจัยคุณภาพน้ำทิ้งภายในบริเวณคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี 3 ประการ คือ เพื่อศึกษาวิจัยคุณภาพน้ำทิ้งของอาคารต่างๆ เพื่อศึกษาวิจัยปริมาณโลหะหนักในน้ำทิ้งของอาคารต่างๆ อันได้แก่ แคดเมียม (Cd) ตะกั่ว (Pb) และปรอท (Hg) และเพื่อศึกษาข้อมูลในเชิงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัสดุทางทันตกรรม สารเคมีและวัตถุอันตรายภายในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกำหนดตำแหน่งที่เก็บตัวอย่างน้ำเสีย/น้ำทิ้ง และน้ำดี จากอาคารต่างๆ ภายในบริเวณคณะฯ จำนวน 10 จุด และกำหนดช่วงเวลาการเก็บด้วยวิธีการสุ่มวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วันต่อเนื่อง โดยพิจารณาคัดเลือกจากช่วงระยะเวลาที่มีการเรียนการสอนภายในห้องปฏิบัติการทดลอง และการให้บริการทางทันตกรรมหนาแน่นซึ่งคาดว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีปริมาณการใช้น้ำ สารเคมีและโลหะหนักสูงกว่าปกติ รวม 218 ตัวอย่าง เพื่อนำมาเป็นตัวแทนในการศึกษาวิจัยปริมาณโลหะหนักและคุณภาพน้ำ ภายใต้การควบคุมคุณภาพการเก็บและรักษาตัวอย่างน้ำ จากนั้น นำเข้าสู่กระบวนการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวัดคุณภาพน้ำเสีย/น้ำทิ้งจำนวน 8 พารามิเตอร์ และวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักจำนวน 3 ชนิด ตาม The Standard Methods for Examination of Water and Wastewater ตาม APHA (American Public Health Association), AWWA (American Water Works Association) และ WPCF (Water Pollution Control Federation) จากการสำรวจสถานที่เพื่อกำหนดจุดและวิธีการจัดเก็บตัวอย่างน้ำพบว่า ภายในคณะฯ มีระบบบำบัดน้ำเสียชีวภาพแบบเติมอากาศ (Biological aeration system) ประจำอาคารอยู่ 2 แห่ง คือ อาคารทันต 4 (คลินิกบริการทางทันตกรรม) และอาคารทันต 15 (อาคารมเด็จย่า) จากผลการวิเคราะห์พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณแคดเมียม ตะกั่ว และปรอทในน้ำทิ้งของอาคารต่างๆ ภายในคณะฯ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นค่าเฉลี่ยปริมาณปรอทในน้ำทิ้งของอาคารทันต 10 (โรงอาหาร) อาคารทันต 5 (คลินิกรวม) และอาคารทันต 15 (อาคารสมเด็จย่า) สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว และจากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ในแต่ละวันมีปริมาณโลหะหนักแตกต่างกันอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ ชนิดของโลหะหนัก สารเคมี และวัตถุอันตราย ลักษณะของการเรียนการสอนภายในห้องปฏิบัติการทดลองการทำวิจัย และการให้บริการทางทันตกรรมในแต่ละวัน จึงทำให้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานค่อนข้างสูง อีกทั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ภายในคณะฯ ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับใช้บำบัดโลหะหนัก จึงทำให้ปริมาณปรอทสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงระดับความเป็นพิษ ส่วนคุณภาพน้ำทิ้งพบว่า ค่าเฉลี่ย BOD, FOG, ความเป็นกรด-เบส ของแข็งตกตะกอน ซัลไฟด์ TKN ของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมด และของแข็งแขวนลอยทั้งหมดของอาคารต่างๆ ภายในคณะฯ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ยกเว้นค่าเฉลี่ย BOD และปริมาณของแข็งแขวนลอยทั้งหมดของอาคารทันต 10 (โรงอาหาร) สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว การตรวจวัดปริมาณน้ำทิ้งไม่สามารถทำได้เนื่องจากภายในคณะฯ มีการระบายน้ำทิ้งแบบหลายจุดและหลายทิศทาง จึงได้ทำการประเมินปริมาณน้ำทิ้งจากการใช้น้ำประปาภายในคณะฯ