Abstract:
ศึกษาสภาพการวิจัยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านนโยบายการวิจัย การบริหาร การจัดสรรทรัพยากรเพื่อการวิจัย รูปแบบการวิจัยและผลงานวิจัยของอาจารย์ วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมวิจัยของอาจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำเสนอแนวทางในการพัฒนาวัฒนธรรมวิจัยของอาจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระเบียบวิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจเอกสารและผลงานวิจัยของอาจารย์ จากแบบสอบถามความเห็นคณาจารย์ คณะครุศาสตร์ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร อดีตผู้บริหารของคณะครุศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และจากการจัดประชุมสนทนากลุ่ม คณาจารย์ คณะครุศาสตร์ จากภาควิชาต่างๆ โรงเรียนสาธิตประถมศึกษาและโรงเรียนสาธิตมัธยมศึกษา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ด้านสภาพการวิจัย พบว่า แม้ว่าคณะครุศาสตร์มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำวิจัย มีการสนับสนุนให้บุคลากรของคณะครุศาสตร์ ได้นำวิธีการวิจัยเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ แต่ภาพรวมของปริมาณงานวิจัยและผู้วิจัยในการบริหารแต่ละสมัยมีไม่เกิน 50% ของจำนวนงานวิจัย และผู้วิจัยทั้งหมดในรอบ 20 ปี งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยปฏิบัติการ เป็นงานเดี่ยว สำหรับจุดอ่อนของการดำเนินงานด้านการวิจัย พบว่า การบริหารจัดการและระเบียบปฏิบัติด้านการเงินมีความยุ่งยากและขั้นตอนมาก การทำวิจัยส่วนใหญ่ยังเป็นส่วนบุคคล เรื่องที่ทำวิจัยมักเป็นไปตามเรื่องที่ตนสนใจหรือเป็นไปตามที่เจ้าของทุนต้องการ จึงทำให้บางครั้งไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาสังคมได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของการดำเนินงานด้านการวิจัย พบว่า คณะครุศาสตร์มีกลุ่มคณาจารย์ที่มีหัวใจนักปราชญ์ คณาจารย์กลุ่มนี้เป็นพี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญให้กับนักวิจัยมือใหม่ ผู้บริหารคณะครุศาสตร์ทุกยุคสมัยให้ความสำคัญและมีนโยบายสนับสนุนด้านวิจัยอย่างชัดเจน คณะมีทุนอุดหนุนและงบประมาณด้านวิจัยอย่างเพียงพอ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ ประสบการณ์และทักษะด้านการทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอ 2. ปัจจัยที่สร้างเสริมวัฒนธรรมวิจัยของอาจารย์ระหว่างกลุ่มที่ทำวิจัยและกลุ่มที่ไม่ทำวิจัย อาทิ คณะมีนโยบายสนับสนุนการทำวิจัยของอาจารย์อย่างชัดเจน มีการให้รางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น รวมทั้งการส่งเสริมให้อาจารย์มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิจัย 3. แนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมวิจัยมีหลากหลายวิธีนับตั้งแต่การปลูกฝังและสร้างทัศนคติในการทำวิจัยของอาจารย์ จนถึงลงมือปฏิบัติการในการบริหารจัดการ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการทำงานวิจัยของอาจารย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกฝังและสร้างทัศนคติในการทำวิจัยของอาจารย์