Abstract:
การทดลองที่ 1 ศึกษาผลของวิธีการให้วัคซีนต่อการสร้างแอนติบอดีและการป้องกันโรค โดยแบ่งไก่เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับวัคซีนใดๆ ไก่กลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคเบอร์ซ่าอักเสบติดต่อ(Infectious Bursal Disease, IBD) เมื่อไก่อายุ 21 วัน โดยการหยอดปากและโดยการหยอดทวารร่วมตามลำดับ ให้เชื้อเบอร์ซ่าอักเสบติดต่อ (IBDV) เมื่อไก่อายุ 35 วัน ผลการทดลองพบว่าระดับแอนติบอดีของไก่กลุ่มที่ 3 สูงกว่ากลุ่มที่ 2 และ 1 (P<0.05) อัตราส่วนของน้ำหนักต่อมเบอร์ซ่าต่อน้ำหนักตัว (Bursa to body weight ratio; B:Bw) ของไก่กลุ่มที่ 3 สูงกว่ากลุ่มที่ 2 และ 1 (P<0.05) คะแนนรอยโรคทางจุลพยาธิ (Histopathological Lesion Score; HLS) ของไก่กลุ่มที่ 3 ต่ำกว่ากลุ่มที่ 2 และ 1 (P<0.05) อัตราการตายของไก่กลุ่มที่ 2 และ 3 ไม่แตกต่างกัน (P>0.05) การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของวิธีการให้วัคซีนต่อการกดภูมิคุ้มกันโรคโดยแบ่งไก่เป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับวัคซีนใดๆ กลุ่มที่ 2 ให้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล (ND) โดยวิธีหยอดตา กลุ่มที่ 3 ให้วัคซีน IBD โดยวิธีการหยอดปากและวัคซีน ND และกลุ่มที่ 4 ให้วัคซีน IBD โดยวิธีการหยอดทวารร่วมและวัคซีน ND และให้เชื้อนิวคาสเซิล (NDV) เมื่อไก่อายุ 42 วัน ผลการทดลองพบว่า ระดับแอนติบอดีต่อโรคนิวคาสเซิลในกลุ่มที่ 4 ต่ำกว่ากลุ่มที่ 3 และ 2 (P<0.05) B:Bw กลุ่มที่ 3 สูงกว่ากลุ่มที่ 4 (P<0.05) HLS กลุ่มที่ 3 และ 4 ไม่แตกต่างกัน (P>0.05) อัตราการตายในกลุ่มที่ 2 3 และ 4 ไม่แตกต่างกัน (P>0.05) การทดลองที่ 3 ศึกษาผลของวิธีการให้วัคซีนที่อายุต่างๆต่อการสร้างแอนติบอดีและการป้องกัน โรค โดยแบ่งไก่เป็น 9 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับวัคซีนใดๆ กลุ่มที่ 2-5 ให้วัคซีน IBD โดยวิธีการหยอดปากเมื่อไก่อายุ 1 7 14 และ 21 วันตามลำดับ กลุ่มที่ 6-9 ได้รับวัคซีน IBD โดยวิธีการหยอดทวารร่วมเมื่อไก่อายุ 1 7 14 และ 21 วันตามลำดับ ให้เชื้อ IBDV เมื่อไก่อายุ 35 วัน ผลการทดลองพบว่า
ระดับแอนติบอดีในกลุ่มที่ 4 5 8 และ 9 สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ B:BW ไม่แตกต่างกัน HLS ในกลุ่มที่ 5 8 และ 9 ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ (P<0.05) อัตราการตาย กลุ่มที่ 5 ต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ (P<0.05) การทดลองที่ 4 ศึกษาผลของวิธีการให้วัคซีนต่อระยะเวลาในการสร้างแอนติบอดีและการป้องกันโรค โดยแบ่งไก่ออกเป็น 11 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับวัคซีนใดๆ กลุ่มที่ 2-6 ให้วัคซีน IBD โดยวิธีหยอดปากเมื่อไก่อายุ 21 23 26 29 และ 32 วันตามลำดับ กลุ่มที่ 7-11 ให้วัคซีน IBD โดยวิธีการหยอดทวารร่วมเมื่อไก่อายุ 21 23 26 29 และ 32 วันตามลำดับ และให้เชื้อ IBDV เมื่อไก่อายุ 35 วัน ผลการทดลองพบว่าระดับแอนติบอดี กลุ่มที่ 4 7 8 และ 10 สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ (P<0.05) B:Bw กลุ่มที่ 1 2 และ 7 สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ HLS กลุ่มที่ 1 และ 2 สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ (P<0.05) อัตราการตาย กลุ่มที่ 1 สูงกว่ากลุ่มที่ 3-11 (P<0.05)