Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลของแรงอัดซ้ำซึ่งเป็นการเลียนแบบแรงบดเคี้ยวในช่องปากว่ามีผลต่อแรงยึดของซีเมนต์ชั่วคราวชนิดหนึ่ง(Temp-Bond(R))ที่ใช้ในการยึดครอบฟันกับหลักยึดของรากเทียมระบบพารากอนเพื่อหาความสัมพันธ์ของจำนวนแรงอัดซ้ำและแรงยึดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทำการเปรียบเทียบค่าแรงยึดก่อนและหลังได้รับแรงอัดซ้ำในลักษณะเส้นโค้งรูปไซนย์(Sine curve)ขนาด 20-130 N ซึ่งมีทิศทางของแรงขนานแต่ออกนอกแนวแกนรากเทียม 3 มม. จำนวนรอบของแรงอัดซ้ำที่ให้กับชิ้นทดสอบแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 500,000 รอบ 1,000,000 รอบและ 5,000,000 รอบซึ่งเทียบเท่าการใช้งานในช่องปากเป็นเวลา 6 เดือน, 1 ปีและ 5 ปีตามลำดับ นำค่าแรงยึดก่อนและหลังได้รับแรงอัดซ้ำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติ Paired sample t-test (alpha = 0.05) และนำค่าแรงยึดที่เปลี่ยนแปลงไปทั้ง 3 กลุ่มมาวิเคราะห์ด้วยสถิติ One way ANOVA (alpha = 0.05) และ Scheffe's multiple contrasts หาความสัมพันธ์ของจำนวนแรงอัดซ้ำและแรงยึดที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย Pearson Correlation coefficient ผลการทดลองพบว่าแรงอัดซ้ำมีผลทำให้แรงยึดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P = 0.000)ทั้ง 3 กลุ่ม โดยที่แรงยึดในกลุ่มที่ได้รับแรงอัดซ้ำจำนวน 500,000 รอบ 1,000,000 รอบและ 5,000,000 รอบมีค่าลดลงร้อยละ 16.75, 18.73 และ 19.68 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามแรงยึดที่ลดลงทั้ง 3 กลุ่มกลับไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P=0.792) ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆของการวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปผลได้ว่า แม้แรงอัดซ้ำจะมีผลทำให้ค่าแรงยึดลดลงก็ตาม แต่จำนวนแรงอัดซ้ำที่เพิ่มขึ้นกลับมีความสัมพันธ์น้อยมากในรูปเชิงเส้น (R=0.119) ต่อค่าแรงยึดที่ลดลงของซีเมนต์ชั่วคราวที่ใช้ในการยึดครอบฟันโลหะกับหลักยึดรากเทียมระบบนี้