Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษา Nested case-control study มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการดูแลที่ห้องฉุกเฉิน ต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยอุบัติเหตุจราจรภายใน 48 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุจราจรในสังกัดโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น 2 ระยะคือ การสร้างเครื่องชี้วัดและการศึกษา Nested case- control study ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 8 แห่ง เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2548-31 ธันวาคม 2549 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณาด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงมาตรฐาน ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ด้วย Odds ratio และ Logistic regression ผลการวิจัยพบว่า การสร้างเครื่องชี้วัดกระบวนการดูแลที่ห้องฉุกเฉิน ใช้วิธี Delphi technique 2 รอบ คณะผู้เชี่ยวชาญ 11 คน สร้างเป็นแบบแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการดูแลที่ห้องฉุกเฉิน 4 กระบวนการ และเมื่อรับไว้รักษาในโรงพยาบาล 4 กระบวนการ ในการศึกษาระยะที่ 2 มีจำนวนตัวอย่างที่ติดตาม 1,981 ราย เป็นกลุ่มศึกษา 491 ราย กลุ่มเปรียบเทียบ 1,490 ราย นำมาส่งคณะผู้เชี่ยวชาญภายนอก 3 คน ตรวจสอบกระบวนการดูแล จำนวน 100 ราย เป็นกลุ่มศึกษา 40 รายและกลุ่มเปรียบเทียบ 60 ราย พบว่า กระบวนการดูแลที่ห้องฉุกเฉินมีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง : Assessment of shock OR 5.93 (95%CI 1.13-31.14), Recognition of presence or risk of abdominal injury OR 3.58 (95%CI 1.11-11.50) มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง และกระบวนการดูแลเมื่อรับไว้รักษาในโรงพยาบาล มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตภายใน 48 ชั่วโมง : Assessment of shock OR 7.60 (95%CI 1.47-32.49), Monitoring and treatment of shock OR 4.40 (95%CI 1.03-18.73), Surgical treatment of abdominal injury OR 6.76 (95%CI 1.73-26.45) และลักษณะทั่วไปของผู้ป่วยมีผลต่อการเสียชีวิตคือ การบาดเจ็บที่ศีรษะและความรุนแรงของการบาดเจ็บ (Injury Severity Score, Abbreviated Injury Score, Revised Trauma Score) การพัฒนาคุณภาพการดูแลที่ห้องฉุกเฉินและเมื่อรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ควรให้ความสำคัญแก่กระบวนการดูแลผู้ป่วยด้านประเมินสภาพ การเฝ้าระวังและการผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะร่วมกับบาดเจ็บที่ช่องท้อง