Abstract:
ดนตรีที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือได้แก่ วงสะล้อ ซอ ซึง มีการขับร้องแบบภาคเหนือเรียกว่า การขับซอ ซึ่งมีวงดนตรีประกอบ นอกจากนี้ยังมีวงกลองสะบัดชัย วงกลองปู่จา และวงปี่พาทย์พื้นเมือง ซึ่งมีการเรียกชื่อต่างกันไป เช่นวงพาดค้อง วงเต่งทิ้ง วงป้าด หรือวงป้าดก๊องบ้าง แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องที่ ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือได้รับการสืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยวิธีมุขปาฐะ การเรียนการสอนมักดำเนินที่บ้านของครู ทำให้ครูและศิษย์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ผู้เรียนมิใช่จะได้รับเพียงวิชาความรู้ด้านดนตรีเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การวางตนในการประกอบวิชาชีพนักดนตรี การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ศิลปินที่เชี่ยวชาญจะถ่ายทอดความรู้เรื่องพิธีกรรมการบูชาครูไปยังอนุชน ซึ่งพิธีกรรมนี้ถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญสำหรับผู้เริ่มเรียนและผู้แสดงขั้นตอนของการไหว้ครูมีการบูชาพระรัตนตรัยก่อนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาพุทธที่เข้าไปมีบทบาทในการประกอบพิธีกรรม เครื่องบูชาครูสะท้อนความเชื่อของศิลปิน ซึ่งมีเรื่องเหนือธรรมชาติเกี่ยวกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ภูมิปัญญาล้านนาที่ชาญฉลาดซึ่งแฝงอยู่ในข้อห้ามต่างๆ สอนให้ผู้ปฏิบัติมีความละเอียด รอบคอบ และประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความเคารพนบนอบต่อผู้เป็นครู การสืบสานวัฒนธรรมดนตรีนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ดนตรีที่งดงามแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่นล้านนาที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของไทยให้คงอยู่สืบไปอีกด้วย