Abstract:
การย่อยไคตินจากแกนหมึกด้วยเอนไซม์จากรา Aspergillus fumigatus และโคลนแบคทีเรีย Serratia sp. สามารถผลิตเอ็น-แอซีทิล-ดี-กลูโคซามีน (GlcNAc) และเอ็น,เอ็น-ไดแอซีทิลไคโตไบโอส [(GlcNAc)2] อย่างเฉพาะเจาะจงได้ เอนไซม์จากรา Aspergillus fumigatus (4 u/1 g of chitin) สามารถย่อยไคติน (3% w/v) ที่ pH เป็น 3 อุณหภูมิ 40oC ได้ผลิตภัณฑ์เป็น GlcNAc ด้วยเปอร์เซ็นต์ผลผลิต 72% ภายในเวลา 2วัน การย่อยไคติน (3% w/v) ด้วยเอนไซม์จากโคลนแบคทีเรีย Serratia sp. (1 u/1 g of chitin) ที่ pH เท่ากับ 6 อุณหภูมิ 37oC บ่มเป็นเวลา 6 วันให้ผลผลิตเป็น (GlcNAc)2 และ GlcNAc ด้วยเปอร์เซ็นต์ผลิตภัณฑ์ 43% และ2.6% ตามลำดับ การทำให้ GlcNAc และ (GlcNAc)2 บริสุทธิ์สามารถทำได้โดยการตกตะกอนของเอทานอล ตามด้วยการกำจัดสีด้วยผงถ่านกัมมันต์หรือใช้คอลัมน์ที่มีผงถ่านกัมมันต์ให้ GlcNAc บริสุทธิ์ด้วยเปอร์เซ็นต์ผลผลิต 64% และ (GlcNAc)2 บริสุทธิ์ด้วยเปอร์เซ็นต์ผลผลิต 40% และด้วยกรรมวิธีการทำให้บริสุทธิ์ที่พัฒนาแล้วสามารถเพิ่มความบริสุทธิ์ของผลิตภัณฑ์สูงถึง 100% การย่อยไคตินด้วยกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น โดยการใช้และไม่ใช้คลื่นอัตราโซนิคเพื่อให้ได้เกลือกลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ (GlcNHCL) ซึ่งสภาวะที่ใช้ในการเตรียมเกลือ GlcNHCL คืออัตราส่วนไคตินต่อกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น 1:1 (w/v) และที่อุณหภูมิ 40oC ได้ผลการย่อยที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในการทดลองในขั้นต่อไป ขณะนี้การทดลองของการย่อยไคตินด้วยกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้นด้วยสภาวะต่างๆ อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล