Abstract:
Brugia pahangi เป็นหนึ่งในพยาธิฟิลาเรียที่ก่อให้เกิดโรค Lymphatic filariasis มีสุนัขเป็นโฮสต์แท้และแมวเป็นตัวกักเก็บโรค การระบาดของพยาธิชนิดนี้พบได้ในประชากรสุนัขและแมวของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดภาคใต้ ที่มีการระบาดของโรคเท้าช้างในคนร่วมด้วย B. pahangi มียุงชนิดต่างๆ เป็นพาหะนำโรค ได้แก่ ยุง Aedes spp. ยุง Armigeres spp. และยุง Mansonia spp. เนื่องจากตัวอ่อนระยะที่ 3 (L3) เป็นตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิฟิลาเรียชนิดนี้ และมีลักษณะคล้ายคลึงกับพยาธิ Brugia malayi (ที่ก่อโรคในคน) และ Dirofilaria immitis (ที่ก่อโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัข) ดังนั้น เมื่อพบ L3 ของพยาธิฟิลาเรียเหล่านี้ใช้ยุงชนิดเดียวกันเป็นพาหะ จึงเป็นการยากที่จะจำแนกชนิดตัวอ่อนของพยาธิฟิลาเรียในยุง การศึกษาครั้งนี้ทำการเปรียบเทียบระยะพัฒนาและลักษณะรูปร่างของตัวอ่อน L1, L2 และ L3 ของพยาธิ B. pahangi และ D. immitis ด้วยการย้อมเอ็นไซม์ acid phosphatase พบตัวอ่อนพยาธิ B. pahangi ที่จัดว่าเป็น L1 ในวันที่ 1-5 หลังยุงได้รับไมโครฟิลาเรีย พบ L2 ในวันที่ 6-11 และ L3 ในวันที่ 12 เป็นต้นไป ในขณะที่พบ L1 ของ D. immitis ในวันที่ 5-9 พบ L2 ในวันที่ 10-14 และพบ L3 ตั้งแต่วันที่ 15 หลังได้รับเชื้อ งานวิจัยนี้ได้นำเทคนิค Reverse Transcription-PCR (RT-PCR) มาใช้ในการตรวจหาทรานสคริปของยีนโทรโปนินและโทรโปไมโอซิน ที่แสดงออกจำเพาะต่อระยะตัวอ่อนของพยาธิ B. pahangi ที่พัฒนาอยู่ในยุง Aedes aegypti (Thailand strain) ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และทดสอบความไวเพื่อตรวจหาทรานสคริปใน L 3 จำนวน 60 ตัว (เก็บตัวอ่อนในวันที่ 14 หลังจากยุงติดพยาธิ) พบผลิตภัณฑ์ RT-PCR (ขนาด 226 bp) ที่แสดงถึงการแสดงออกของยีนโทรโปไมโอซินที่มีมากกว่า การแสดงออกของยีนโทรโปนิน (221 bp)
การศึกษานี้ ยังพบทรานสคริปของยีนโทรโปนินใน B. pahangi ในวันที่ 7-10 ซึ่งเป็นระยะ L2 และทรานสคริปของยีนโทรโปไมโอซิน ในวันที่ 7-8 และ 11-12 ซึ่งเป็นระยะ L2 ระยะปลาย และ L3 ระยะต้น ตามลำดับ แต่การทดสอบครั้งนี้พบปฏิกิริยาข้ามของไพรเมอร์กับดีเอ็นเอของ B. malayi ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า เทคนิค RT-PCR ถึงแม้จะมีปฏิกิริยาข้ามกับ L2 และ L3ของ B. pahangi ก็ตาม แต่ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นของการตรวจหาโทรโปไมโอซินของ L2 และ L3 (วันที่ 8-12 หลังได้รับเชื้อ) ได้