Abstract:
วิเคราะห์ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับเยาวชนไทย และวิเคราะห์แผนการปฏิบัติการสื่อสารในการสร้างจิตสำนึก การศึกษาวิจัยนี้เป็นการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เจาะลึกและการสังเกตการณ์ภาคสนาม โดยศึกษาโครงการเชิงอนุรักษ์ของ 4 องค์กรคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์และมูลนิธิพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 4 หน่วยงานมียุทธศาสตร์เชิงนโยบายที่มุ่งเน้นไปเรื่องปัญหาของธรรมชาติและป่าไม้ การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความร่วมมือ การสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวทัศนศึกษาอย่างถูกวิธีให้กับเยาวชน ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการให้มีความสอดคล้องกับ นโยบายเพื่อเป็นกรอบในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการกำหนดนโยบายนั้นหน่วยงานจะพิจารณาว่า ปัญหาใดที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่พบในปัจจุบัน หรือเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้จะพิจารณาจากนโยบายของภาครัฐเป็นองค์ประกอบว่า มีแนวโน้มที่ต้องการแก้ปัญหาอย่างไรบ้างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนไทยพบว่า โครงการทั้ง 4 ได้ใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสารทั้งแบบการมีส่วนร่วม การเรียนรู้เชิงประจักษ์ กิจกรรมกลุ่มและการทดลองปฏิบัติ โดยเป็นกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ที่เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารระหว่างกันภายในกิจกรรมกลุ่ม โดยเรียนรู้และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ร่วมกันสังเกต มีการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์ภายในกลุ่มเยาวชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ได้เรียนรู้เชิงประจักษ์คือได้รับประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และได้ทดลองปฏิบัติกับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและเกิดจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แผนปฏิบัติการสื่อสารเพื่อสร้างจิตสำนึกวิเคราะห์ได้ว่า โครงการทั้ง 4 ใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่แตกต่าง เช่น กลยุทธ์การสื่อสารด้วยเพลง เกมส์ ภาพ วิดีโอ บทกวี การแสดงละคร วิทยากร การแสดงดนตรีท้องถิ่น การใช้เทียนสร้างกิจกรรม (กิจกรรมพิธีเทียน) เป็นวิธีการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความสนใจกับกิจกรรม อันจะนำไปสู่การรับรู้และความตระหนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยสอดแทรกเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความรู้ในการท่องเที่ยวตามธรรมชาติ