Abstract:
ศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมต่อความโกรธของนักเรียนวัยรุ่น โดยมีสมมุติฐานการวิจัยคือ (1) ระดับความโกรธโดยทั่วไปของนักเรียน ที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม จะต่ำกว่าระดับความโกรธโดยทั่วไปของนักเรียนกลุ่มควบคุม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผล (2) ระดับความโกรธโดยทั่วไป ของนักเรียนที่ได้เข้าร่วมปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผลจะต่ำกว่าในระยะก่อนการทดลอง (3)ระดับการแสดงความโกรธออกภายนอกของนักเรียนที่ได้เข้าร่วม การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม จะต่ำกว่าระดับการแสดงความโกรธออกภายนอกของนักเรียนกลุ่มควบคุม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผล (4) ระดับการแสดงความโกรธออกภายนอก ของนักเรียนที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผลจะต่ำกว่าในระยะก่อนการทดลอง (5)ระดับการควบคุมความโกรธของนักเรียน ที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม จะสูงกว่าระดับการควบคุมความโกรธของนักเรียนกลุ่มควบคุม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผล (6) ระดับการควบคุมความโกรธ ของนักเรียนที่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ในระยะหลังการทดลองและในระยะติดตามผลจะสูงกว่าในระยะก่อนการทดลอง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนที่มีประวัติจากฝ่ายปกครอง ว่ามีปัญหาทางพฤติกรรมจำนวน 16 คน ซึ่งสุ่มจากนักเรียนที่มีประวัติจากฝ่ายปกครองว่า มีปัญหาทางพฤติกรรมที่ได้คะแนนจากแบบวัดความโกรธ และการแสดงความโกรธในมาตรความโกรธแบบลักษณะ และมาตรการแสดงความโกรธออกภายนอกสูงกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 75 และมีคะแนนในมาตรการควบคุมความโกรธต่ำกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 25 สุ่มเป็นกลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 8 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ตามแนวพิจารณาเหตุผล อารมณ์และพฤติกรรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 1 1/2-2 ชั่วโมง รวม 20 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดประสบการณ์ความโกรธและการแสดงความโกรธ ซึ่งพัฒนามาจากแบบสำรวจความโกรธแบบสภาวะ-ลักษณะและการแสดงความโกรธของ Spielberger วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่าง ของค่าเฉลี่ยคะแนนความโกรธแบบลักษณะ การแสดงความโกรธออกภายนอกและคะแนนการควบคุมความโกรธด้วยการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยพบว่า (1) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนความโกรธโดยทั่วไปต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนความโกรธโดยทั้วไปต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัฐทางสถิติที่ระดับ .05 (3) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนการแสดงความโกรธออกภายนอกต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (4) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนการแสดงความโกรธออกภายนอกต่ำกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (5) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนการควบคุมความโกรธสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (6) หลังการทดลองและในระยะติดตามผล นักเรียนที่เข้าร่วมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มมีคะแนนการควบคุมความโกรธสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05