Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษากระบวนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของกองบัญชาการทหารสูงสุด (บก.ทหารสูงสุด) ภายหลัง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้ (2) ศึกษาผลของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่มีต่อวัฒนธรรมองค์การในด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ บก.ทหารสูงสุด (3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของผู้สื่อข่าว น.ส.พ. รายวันที่มีต่อการเข้าถึงแหล่งข่าวและการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับ บก.ทหารสูงสุด โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงเจาะลึก (In-depth Information) และศึกษาจากเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า (1) กระบวนการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ บก. ทหารสูงสุดมีกรอบการเปิดเผยโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของกองทัพและให้เปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยเอกสารใดที่กำหนดชั้นความลับตั้งแต่ชั้นลับขึ้นไปห้ามมิให้เปิดเผย หากจำเป็นต้องเปิดเผยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ส่วนข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ประชาชนตรวจดูตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้เปิดเผยโดยไม่ลงรายละเอียด ซึ่งขั้นตอนการเปิดเผย มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงสั่งให้เปิดเผย ตามสายบังคับบัญชา หรือนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร บก.ทหารสูงสุด และนำมติที่ประชุมเรียนผู้บัญชาการทหารสูงสุด หากกรณีใดที่มีผู้ร้องขอเปิดเผยข้อมูลข่าวสารไม่พอใจในการตัดสินใจของ บก.ทหารสูงสุด สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านต่างประเทศและความมั่นคงได้ (2) ผลของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่มีต่อวัฒนธรรมองค์การในด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของ บก.ทหารสูงสุด พบว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารขึ้นมาเพื่อกำหนดแนวทางและกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่ได้รับการร้องขอจากประชาชน ขณะที่ทัศนคติของนายทหารเริ่มมีแนวคิดเปลี่ยนไปสู่การยินยอมการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นแต่จะต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ (3) ความคิดเห็นของผู้สื่อข่าว น.ส.พ. รายวันในการเข้าถึงแหล่งข่าว และการนำเสนอข่าว กล่าวคือ ในการเข้าถึงแหล่งข่าวยังคงมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อสร้างความไว้วางใจจากแหล่งข่าว ขณะที่การนำเสนอข่าวไม่สามารถให้รายละเอียดครบสมบูรณ์ เนื่องจากการแสวงหาข้อมูลสนับสนุนค่อนข้างยาก ข่าวส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปของข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างภาพพจน์กองทัพ