Abstract:
ศึกษาผลของกลุ่มจิตสัมพันธ์ต่อความพึงพอใจในชีวิต ของนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความพิการ โดยมีสมมุติฐานการวิจัยคือ (1) นักเรียนปกติที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิต สูงกว่านักเรียนที่มีความพิการที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ (2) นักเรียนปกติที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิต สูงกว่านักเรียนปกติที่ไม่ได้เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ (3) นักเรียนปกติที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่าก่อนการเข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ (4) นักเรียนที่มีความพิการที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่า นักเรียนที่มีความพิการที่ไม่ได้เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ (5) นักเรียนที่มีความพิการที่เข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ จะมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิตสูงกว่าก่อนการเข้ากลุ่มจิตสัมพันธ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง แบบมีกลุ่มทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (randomize pretest-posttest control group design) กลุ่มตัวอย่างคือ (1) นักเรียนปกติที่กำลังศึกษาอยู่ในวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชูทิศ จำนวน 16 คน (2) นักเรียนที่มีความพิการที่กำลังศึกษาอยู่ใน โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา จำนวน 16 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง พิจารณาจากผู้ที่มีคะแนนความพึงพอใจในชีวิต ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ย 0.5 SD สุ่มเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 คน กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมกลุ่มจิตสัมพันธ์ มีระยะเวลา 3 วัน 2 คืน รวมทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบวัดความพึงพอใจในชีวิตซึ่งผู้วิจัยปรับปรุง จากแบบวัดความพึงพอใจในชีวิตดัชนีบ่งชี้ชุด เอ (Life Satisfaction Index A) ของนิวการ์เท็นและคณะ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีการทดสอบความแตกต่าง ระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนความพึงพอใจในชีวิต ด้วยวิธีการทดสอบค่าที (t-test) ผลการวิจัยสนับสนุนสมมุติฐานทั้ง 5 ประการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05