Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอรูปแบบเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงของนิสิตนักศึกษาครูระดับปริญญาตรี ให้แก่อาจารย์ผู้สอนรายวิชาต่างๆในหลักสูตรครุศึกษา ประชากรของการวิจัยเป็นอาจารย์ผู้สอนและนิสิตนักศึกษาในหลักสูตรครุศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในสังกัด 2 สังกัด คือ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและกระทวงศึกษาธิการ ขั้นตอนการวิจัยที่สำคัญมี 4 ขั้น คือ (1) การศึกษาแนวคิดแนวทางเกี่ยวกับการคิดและพัฒนาของการคิด และวิเคราะห์ทักษะการคิดต่างๆ (2) การวิเคราะห์หลักสูตรครุศึกษา ระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆเพื่อแสวงหาช่องทางในการเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงให้แก่ผู้เรียน (3) การนำเสนอรูปแบบเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงของนิสิตนักศึกษาครู สำหรับหลักสูตรครุศึกษาระดับปริญญาตรี โดยใช้ข้อมูลจากขั้นที่ (1) และ (2) (4)การทดลองใช้รูปแบบหรือแนวทางต่างๆที่นำเสนอกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษาครูระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆและนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงรูปแบบฯ ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้ 1.คณะผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ความหมาย ขั้นตอนการคิด และตัวบ่งชี้ทักษะการคิด ของทักษะการคิดขั้นสูง ได้ 31 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะการคิดซับซ้อน 18 ทักษะ ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด 9 ทักษะ และทักษะกระบวนการคิด 4 ทักษะ 2.คณะผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ความหมาย ขั้นตอนการคิด และตัวบ่งชี้ทักษะการคิด ของทักษะการคิดขั้นพื้นฐานได้ 21 ทักษะ ซึ่งประกอบด้วยทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสาร 3 ทักษะ และทักษะการคิดที่เป็นแกน 18 ทักษะ 3.รูปแบบเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงของนิสิตนักศึกษาครูระดับปริญญาตรีที่นำเสนอประกอบด้วยวัตถุประสงค์ หลักการ โครงสร้าง แนวทางการพัฒนาเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูง 10 แนวทางหลัก และ 6 แนวทางย่อย แนวทางการวัดและประเมินการคิด และเอกสารประกอบรูปแบบฯ 4.คณะผู้วิจัยเลือก 3 แนวทางหลักและ 5 แนวทางย่อย มาใช้ในการทดลอง โดยจัดทำเอกสารคู่มือครูขึ้น 6 ชุด เพื่อให้ผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูง 5.เอกสารประกอบรูปแบบฯที่จัดทำขึ้น ได้แก่ คู่มือครูในการเสริมสร้างทักษะการคิดขั้นสูงจำนวน 6 ชุด เป็นคู่มือที่จัดทำขึ้นโดยใช้แนวทางหลัก 3 แนวทาง และแนวทางย่อย 5 แนวทาง ได้แก่ (1) การบูรณาการทักษะการคิดซับซ้อน ทักษะพัฒนาลักษณะการคิด ทักษะกระบวนการคิด ทักษะการคิดที่ใช้ในการสื่อสาร และทักษะการคิดที่เป็นแกน (2) การใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการคิด และ (3) การจัดกระบวนการส่งเสริมการคิดเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้สอนใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียนกลุ่มทดลองจำนวน 12 กลุ่ม 6.ผลการทดลองใช้แนวทางหลัก 3 แนวทาง และแนวทางย่อย 5 แนวทาง พบว่า ผู้สอนนิสิตนักศึกษาครูซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 12 กลุ่ม สามารถจัดกิจกรรมตามแนวทางทั้งหมดได้ผลดีทั้งทางด้านผลสัมฤทธิ์ พฤติกรรมการคิด/ทักษะการคิด และเจตคติต่อการเรียน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางที่ใช้ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อใช้ในการปรับปรุงรูปแบบฯและเอกสารประกอบรูปแบบฯ ให้สมบูรณ์