Abstract:
ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลไซโลส กลูโคส และอราบิโนส จากฟางข้าวและชานอ้อย ผลการวิเคราะห์ปริมาณกลูโคส ไซโลส อราบิโนส และฟรุตโตส ในสารละลายของน้ำตาลที่ได้จากการไฮโดรไลซ์ฟางข้าวและชานอ้อยพบว่า เมื่อใช้กรดซัลฟูริกเข้มข้นเพียงอย่างเดียว เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับฟางข้าวคือการไฮโดรไลซ์ด้วย กรดซัลฟูริกเข้มข้น 30% ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 20 นาที โดยให้ปริมาณน้ำตาลสูงสุด 44.84 กรัมต่อ 100 กรัมตัวอย่าง คิดเป็น 59.56% ของปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในตัวอย่าง ส่วนเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับชานอ้อยคือการไฮโดรไลซ์ด้วยกรดซัลฟูริกเข้มข้น 30% ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 10 นาที ได้ปริมาณน้ำตาลสูงสุด 53.00 กรัมต่อ 100 กรัมตัวอย่าง คิดเป็น 68.60% ของปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในตัวอย่าง เมื่อใช้รังสีแกมมาร่วมกับกรดซัลฟูริกเจือจางพบว่า เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับฟางข้าวคือการฉายรังสีแกมมา 500 kGy ก่อนไฮโดรไลซ์ด้วยกรดซัลฟูริกเข้มข้น 2% ที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง จากนั้นไฮโดรไลซ์กากที่เหลืออีกสามครั้งด้วยกรดเข้มข้น 15% ที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ได้ปริมาณน้ำตาลสูงสุด 55.74 กรัมต่อ 100 กรัมตัวอย่าง คิดเป็น 74.03% ของปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในตัวอย่าง ส่วนเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับชานอ้อยคือการฉายรังสีแกมมา 700 kGy ก่อนการไฮโดรไลซ์ด้วยกรดซัลฟูริกเข้มข้น 2% ที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียสเป็นเวลานาน 30 นาที จากนั้นไฮโดรไลซ์กากที่เหลืออีกสามครั้งด้วยกรดซัลฟูริกเข้มข้น 15% ที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ได้ปริมาณน้ำตาลสูงสุด 64.43 กรัมต่อ 100 กรัมตัวอย่าง คิดเป็น 83.41% ของปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการแยกกรดออกจากสารละลายของน้ำตาลและกรดที่ได้ด้วย ion exchange resin อีกด้วย