Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบผลของวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิมและวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซินต่อเซลล์เอ็นยึดปริทันต์ของมนุษย์ในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์เมื่อมีการสัมผัสโดยตรงระหว่างเซลล์กับวัสดุ ผลของวัสดุทั้งสองชนิดต่ออัตราการเพิ่มจำนวนเซลล์ ลักษณะของเซลล์ที่ยึดเกาะบนผิววัสดุ ปริมาณไฟโบรเนกตินและค่าการทำงานของเอ็นไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตส ที่ระยะเวลา 1, 3 และ 5 วัน ผลการวิจัยพบว่าวัสดุทั้งสองชนิดภายหลังผสมเสร็จใหม่ ๆ มีความเป็นพิษต่อเซลล์สูง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไประดับความเป็นพิษของวัสดุทั้งสองชนิดมีการลดลง การศึกษาอัตราการเพิ่มจำนวนเซลล์พบว่าเซลล์เอ็ดยึดปริทันต์สามารถเจริญบนผิววัสดุทั้งสองชนิดได้ โดยในวันที่ 3 วัสดุทั้งสองชนิดมีอัตราการเพิ่มจำนวนเซลล์ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมขณะที่ในวันที่ 5 วัสดุกลาสไอโอเนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซินมีอัตราการเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่ากลุ่มควบคุม (p < 0.05) แต่ไม่แตกต่างกับกลุ่มกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม เมื่อพิจารณาลักษณะของเซลล์พบว่าเซลล์ที่ยึดเกาะบนพื้นผิววัสดุทั้งสองชนิดมีลักษณะปกติ ไม่แตกต่างจากลักษณะเซลล์ที่พบในกลุ่มควบคุม การศึกษาปริมาณไฟโบรเนกตินพบว่าวัสดุกลาสไอโอเนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซิน มีแนวโน้มกระตุ้นการสร้างไฟโบรเนกตินได้มากกว่าวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม การศึกษาการทำงานของเอ็นไซม์อัลคาไลน์ฟอสฟาเตสไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างวัสดุทั้งสองชนิดในทุกช่วงเวลาศึกษา โดยสรุปพบว่าเซลล์เอ็นยึดปริทันต์สามารถเจริญและเพิ่มจำนวนบนผิววัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีนเมนต์ทั้งสองชนิดได้ตามปกติหรือมากกว่าปกติ โดยมีลักษณะของเซลล์ที่ปกติ วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซินทำให้เกิดการตอบสนองของเซลล์เอ็นยึดปริทันต์ของในทางบวกมากกว่าวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดั้งเดิม