Abstract:
ประเมินผลความพึงพอใจของผู้ใช้ต่อบริการของห้องสมุดวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำผลจากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการบริหารจัดการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชากรที่ใช้ศึกษาคือ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก วิทยาลัยการสาธารณสุข ประจำปีการศึกษา 2002 จำนวนทั้งสิ้น 81 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล ซึ่งดำเนินการแจกแบบสอบถามตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 จำนวน 81 ฉบับ ระยะเวลารวบรวมแบบสอบถาม 1 เดือน ได้รับแบบสอบถามกลับจำนวน 48 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS หาค่าเฉลี่ยและร้อยละ จากจำนวนประชากรที่ตอบแบบสอบถามกลับ 48 คน พบว่า 63.8% เคยใช้บริการของห้องสมุด และ 36.2% ไม่เคยใช้บริการห้องสมุด ระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในแง่ความเพียงพอของการจัดเตรียมบริการพื้นฐาน ลักษณะกายภาพและประสิทธิภาพของผู้ให้บริการอยู่ในระดับเพียงพอคือ ระดับมากกว่า 50% โดยเฉพาะลักษณะทางกายภาพของห้องสมุด ด้านแสงสว่าง และอุณหภูมิ (92.6%) ความรวดเร็วในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ (80.6%) ระดับความพึงพอใจต่อบริการที่จัดให้ในห้องสมุดอันดับแรกคือ บริการวารสารด้านสาขาวิชา/เนื้อหาของวารสาร มีระดับความพึงพอใจมาก 55.9% บริการอันดับสองคือสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ ที่จัดหาเข้าห้องสมุด 52.9% บริการอันดับสามคือ บริการสาระสังเขปวิทยานิพนธ์ของวิทยาลัยฯ 51.4% สรุปภาพรวมของระดับความพึงพอใจต่อบริการในส่วนนี้อยู่ในระดับความพึงพอใจปานกลาง (ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ X <= 2.1-3.5 = ระดับความพึงพอใจปานกลาง) ในส่วนข้อเสนอแนะประเภทสิ่งพิมพ์ พบว่าหนังสือประเภทรายงานการวิจัย (Reports & research publications) เป็นสิ่งพิมพ์ประเภทแรกที่ห้องสมุดควรจัดหาไว้ให้บริการ 46.9% อันดับสองประเภทตำราเรียนและหนังสืออ้างอิง (Text & reference books) 42.4% ส่วนบริการอันดับแรกที่ห้องสมุดควรให้ความสำคัญที่สุดคือ บริการขอสำเนาเอกสารฉบับเต็ม 43.8% บริการอันดับสองคือ บริการสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต/การเข้าถึงสารสนเทศ 37.5%