Abstract:
ในประเทศไทย มะเร็งในช่องปากเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบในเพศชายและอันดับ 7 ของมะเร็งที่พบในเพศหญิง ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่การดำเนินของโรค ยังไม่รุนแรงในระยะก่อนเกิดมะเร็งและ/หรือมะเร็งระยะแรก ก็จะทำให้อัตราการอยู่รอดและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันเทคนิคต่างๆได้ถูกพัฒนาเพื่อช่วยเสริมในการตรวจหามะเร็งทางคลินิก ที่น่าสนใจคือการที่มีผู้นำกรดอะซิติก (acetic acid) 3-5% มาใช้ในทางนรีแพทย์เพื่อช่วยตรวจหาโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศกำลังพัฒนา การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาค่าความไว ความจำเพาะ และความแม่นยำของน้ำส้มสายชูในการตรวจหารอยโรคมะเร็งในช่องปาก โดยมีวัตถุประสงค์รองเพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการทำปฏิกิริยา ของเนื้อเยื่อต่อน้ำส้มสายชูทางคลินิกและปริมาณของโปรตีน p53 ในระดับเซลล์ โดยศึกษาในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีรอยโรคก่อนเกิดมะเร็งและมะเร็งในช่องปากจำนวน 30 คน ด้วยวิธีการป้ายน้ำส้มสายชูลงบริเวณรอยโรค แล้วตัดชิ้นเนื้อจากนั้นนำมาตรวจทางจุลพยาธิวิทยา และหาจำนวนเซลล์ที่ให้ผลบวกต่อโปรตีน p53 ด้วยวิธีทางอิมมูโนฮิสโตเคมีสตรี ผลการศึกษาพบว่าน้ำส้มสายชูมีค่าความไว ความจำเพาะ และความแม่นยำในการตรวจหามะเร็งในช่องปากเท่ากับ 83.33%, 84.12% และ 83.64% ตามลำดับ และการทำปฏิกิริยาของเนื้อเยื่อต่อน้ำส้มสายชูทางคลินิกและปริมาณของโปรตีน p53 ในระดับเซลล์มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.000) ดังนั้นการใช้น้ำส้มสายชูจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ในการช่วยตรวจหารอยโรคมะเร็งในช่องปากในประเทศกำลังพัฒนา เพราะมีค่าความไวและความจำเพาะไม่แตกต่างจากโทลูอิดีนบลู ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วมากนักและยังมีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป