Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อวิเคราะห์องค์ความรู้ในการศึกษาสื่อสารการแสดงประเภทสื่อพื้นบ้านในสถาบันอุดมศึกษา 2) เพื่อสังเคราะห์แนวคิดทฤษฎีและประมวลผลการวิจัยสื่อสารการแสดงประเภทสื่อพื้นบ้าน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ทางด้านสื่อสารการแสดงและที่เกี่ยวข้อง ได้แสวงหาความรู้ในแง่มุมอื่น เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป 3) เพื่อเสนอแนะหัวข้อ ประเด็นเรื่องการสื่อสารการแสดงประเภทสื่อพื้นบ้านในการทำวิทยานิพนธ์หรือการทำวิจัยครั้งต่อไปในอนาคต 4) เพื่อพัฒนาสาระสำคัญในหลักสูตรสื่อสารการแสดงระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตต่อไป งานวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ที่ใช้การวิเคราะห์และสังเคราะห์เอกสาร (Documentary research) ประกอบกับได้จัดอาศรมความคิดและสาธิตการแสดงพื้นบ้านในรูปแบบที่ต่างกันด้วย อีก 2 ครั้ง ผลการวิจัยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524-2547 มีการศึกษาสื่อสารการแสดงประเภทสื่อพื้นบ้านในวิทยานิพนธ์ จำนวน 85 เรื่อง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมากที่สุดจำนวน 30 เรื่อง สาขาที่นิยมศึกษาคือไทยคดีหรือไทยศึกษา การสื่อสารนิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์และการสอนและนาฏศิลป์ ชนิดของสื่อสารการแสดงประเภทสื่อพื้นบ้านพบ 9 ชนิดใหญ่ๆ ที่พบมากที่สุดคือเพลงพื้นบ้าน 16 เล่ม แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมมีการนำมาใช้มากที่สุด เช่นเดียวกับระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้ในการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ทั้งมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ประเด็นการศึกษาทั้งสิ้นมี 10 ประเด็น ที่พบมากที่สุดคือ การศึกษารูปแบบองค์ประกอบและพัฒนาการของการแสดง รองลงมาคือ การวิเคราะห์เนื้อหา วรรณศิลป์ และคุณค่าทางบทวรรณกรรม การศึกษาประวัติและผลงานของศิลปิน การดำรงอยู่และการเสื่อมสลายของพื้นบ้าน การเปิดรับสารจากสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน/สื่อพื้นบ้านเพื่อการพัฒนา การสร้าง/พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สื่อสารการแสดงพื้นบ้านกับสื่อมวลชน การสืบทอด/ถ่ายทอดสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน สื่อสารการแสดงพื้นบ้านกับความสัมพันธ์ทางสังคม ส่วนประเด็นการวิเคราะห์ผู้ชมมีน้อยที่สุด ในเรื่องของการศึกษารูปแบบ องค์ประกอบและพัฒนาการของการแสดงนั้น จะเน้นเรื่องการเปรียบเทียบของเก่า ของใหม่และอิทธิพลของความทันสมัย ในองค์ประกอบด้านดนตรี เนื้อหา ท่ารำ และองค์ประกอบอื่นๆ ส่วนการวิเคราะห์เนื้อหา วรรณศิลป์ และคุณค่าของวรรณกรรมของบทวรรณกรรม ก็จะแสดงให้เห็นภาพสะท้อนสังคม ค่านิยม การดำเนินชีวิต และการใช้วรรณศิลป์และภาษาที่งดงาม สำหรับการศึกษาประวัติและผลงานของศิลปินก็จะเน้นไปที่ศิลปินแห่งชาติหรือศิลปินอาวุโสในด้านปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ส่วน การดำรงอยู่และการเสื่อมสลายของสื่อพื้นบ้านก็จะชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้สื่อสารการแสดงพื้นบ้านเสื่อมสลาย อาทิ การเข้ามาของสื่อใหม่และข้อจำกัดของสื่อเอง การดำรงอยู่ก็ต้องเปิดรับและผสมผสานสื่อสมัยใหม่ ในขณะที่การเปิดรับสารจากสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน/สื่อพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาจะเสนอข้อค้นพบในแง่ประสิทธิภาพของสื่อสารการแสดงพื้นบ้านในการส่งเสริมสุขภาพของชุมชนและพัฒนาเยาวชน ในประเด็นการสร้าง/พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนจะแสดงให้เห็นถึงการนำสื่อสารการแสดงพื้นบ้านมาบูรณาการกับการสอนและสร้างหลักสูตรเพื่อสอนเพลงพื้นบ้าน เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ของสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน เมื่อต้องแสดงผ่านสื่อมวลชนสื่อสารการแสดงพื้นบ้านต้องปรับตัวด้านเนื้อหาและรูปแบบ ส่วนการสืบทอด/ถ่ายทอดสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน จะพบว่ามีขั้นตอนและกระบวรการวิธีที่ครูทำให้ดูและปฏิบัติตามรวมทั้งยังเป็นการสืบทอดในครอบครัวหรือชุมชน ส่วนสื่อสารการแสดงพื้นบ้านกับความสัมพันธ์ทางสังคมนั้นจะพบว่า สื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชนและเครือข่ายศิลปิน สุดท้ายเรื่องผู้รับสาร ก็จะแบ่งเป็น 2 ประเด็นคือความชอบในผู้แสดงและการแสดง กับการดูการแสดงกกับการเข้าใจในการสื่อสาร ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ในอนาคตคือ บทบาทและหน้าที่เชิงประสานวัฒนธรรมและการแสดงความเป็นไทของชุมชน/การศึกษาศิลปินและชีวิตที่ต้องปรับตามกระแสสังคม/ศิลปินลูกทุ่งกับการสืบสานงานการแสดงพื้นบ้าน/การจัดการองค์กรหรือคณะการแสดงและการสร้างเครือข่ายศิลปิน/การวิจัยสร้างสรรค์หรือทดลองสื่อสารการแสดงพื้นบ้านร่วมสมัย/การถ่ายโอนหรือย้ายสื่อ : รสนิยมการแสดงไทยในสื่อที่แตกต่าง/การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์และบริบทของสังคมที่แตกต่างกับสื่อสารการแสดงพื้นบ้าน/ฉาก เวที พื้นที่ แสง สี กับการสื่อความ/ปัจจัย S M C R กับการพัฒนาทั้งสื่อและคน/การประยุกต์สื่อสารการแสดงพื้นบ้านที่มีรูปแบบละครเข้ากับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาเยาวชน/ผู้รับสารในฐานะผู้เสพงานศิลปะ/การสืบสานการแสดงโดยแตกกิ่ง ต่อตา จากรากและแก่นเดิม/กระบวนการสร้างเด็กและเยาวชนในฐานะผู้สืบสานการแสดงพื้นบ้าน