Abstract:
บทความเรื่องนี้มีจุดประสงค์ในการศึกษาภาพพฤติกรรมโจรและอันธพาลที่จิตรกรในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้วาดไว้บนผนังโบสถ์วิหารของพระอารามหลวงแห่งสำคัญที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์ขึ้นในรัชกาลนั้น โดยจะได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงความสำคัญของภาพโจรและอันธพาลที่จิตรกรวาดไว้ ในฐานะที่โจรและอันธพาลมีความสำคัญเป็นตัวดำเนินเรื่องในเรื่องราวทางพุทธศาสนาที่จิตรกรเลือกสรรมาวาด พร้อมกันนั้นยังศึกษาถึงรูปลักษณ์ของโจรและอันธพาลที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยแสดงการวิเคราะห์ตัวอย่างภาพโจรและอันธพาลจำนวนหนึ่งที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 การศึกษาในขั้นตอนสุดท้ายของบทความนี้คือ การศึกษารูปลักษณ์ของโจรและอันธพาลที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยเทียบเคียงกับภาพลักษณ์ของโจรและอันธพาลที่ปรากฏในงานวรรณกรรมร่วมสมัยที่แต่งขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2 และ 3 เพื่อหาข้อสรุปว่า ความตั้งใจของจิตรกรที่ได้วาดภาพโจรและอันธพาลประเภทต่างๆ ขึ้นมานั้น เป็นความตั้งใจที่จะใช้ปลายพู่กันของตนนั้นสะท้อนภาพของสังคมสยามในเวลานั้นให้ปรากฏเป็นหลักฐานกับคนรุ่นหลัง