Abstract:
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543 มาตรา 32 ทวิได้กำหนดให้อาคารบางประเภทต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมและด้านสถาปัตยกรรม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550 เป็นต้นมา อาคารประเภทโรงภาพยนตร์รวมหลายโรงในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกันเป็นทั้งโรงมหรสพ และอาคารชุมนุมคน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการตรวจสอบด้วย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และสรุปแนวความคิดจากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักการสำคัญในการตรวจสอบอาคารทางด้านสถาปัตยกรรมตามกฏหมายควบคุมอาคาร เพื่อเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบอาคารด้านสถาปัตยกรรม ตามกฏหมายควบคุมอาคารสำหรับโรงภาพยนตร์รวมหลายโรง ในอาคารที่ประกอบกิจการหลายประเภทรวมกัน การวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยโดยการศึกษาหลักการ ทฤษฎี กฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการตรวจสอบสภาพ ตลอดจนมีการวิเคราะห์จากแบบของอาคารและสำรวจพื้นที่จริงของอาคารกรณีศึกษา เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเท็จจริงมาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้เพื่อให้สามารถได้ข้อมูลในเชิงของพฤติกรรมการใช้พื้นที่ที่แท้จริงของคนในอาคาร และได้ข้อมูลของการปฏิบัติงานการตรวจสอบอาคารสำหรับผู้ตรวจสอบอาคาร
จากผลการศึกษาพบว่า พื้นที่โรงภาพยนตร์มีมีความเสี่ยงอันตรายคือ 1. มีการใช้วัสดุตกแต่งเป็นพิเศษ เป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้หรือการลุกลามของไฟได้ 2. ภายในโรงภาพยนตร์ขณะมีการใช้งานจะมีแสงสว่างเพียงเล็กน้อยไม่เอื้อต่อการอพยพ 3. ผู้ใช้พื้นที่ประกอบด้วยผู้ชมจำนวนมากอยู่รวมกัน อาจทำให้เกิดความโกลาหลเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน 4. ห้องเก็บฟิล์ม หรือห้องฉายภาพยนตร์ มีช่องเปิดไหลต่อถึงกันได้ อาจเกิดการลุกลามของเปลวไฟและควันได้ แนวทางการตรวจสอบพื้นที่โรงภาพยนตร์ควรพิจารณาประเด็นที่ตรวจก่อนการใช้งาน และประเด็นที่ตรวจระหว่างมีการใช้ โดยประเด็นที่ต้องตรวจสอบแบ่งเป็น ประเด็นที่ตรวจสอบได้เฉพาะพื้นที่ที่ศึกษา และประเด็นที่ต้องได้รับการตรวจรวมทั้งระบบกับอาคารหลัก โดยประเด็นต่างๆ ที่ตรวจสอบได้เฉพาะพื้นที่ที่ศึกษา ควรให้ความสำคัญพื้นที่ 3 ส่วนคือ 1. พื้นที่ภายในโรงภาพยนตร์ย่อย 2. ทางสัญจรโดยรอบโรงภาพยนตร์ย่อย 3. ห้องฉายภาพยนตร์ การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่าปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบโรงภาพยนตร์ นั่นคือ กลุ่มงานตรวจสอบอาคารโรงมหรสพ กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งอาจเกิดความซ้ำซ้อนกับการตรวจสอบอาคารที่กำลังจะมีขึ้น อาจจะต้องยกเลิกและคงเหลือเพียงข้องบังคับเดียวเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ตรวจสอบอาคารและเจ้าของโรงภาพยนตร์ ให้ความสำคัญกับแผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร เพื่อให้การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ