Abstract:
อะกลีพริสโตน เป็นแอนตี้โปรเจสตินที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนโปรเจเตอโรน โดยการแย่งจับกับตัวรับ มีการนำมาใช้ในเหนี่ยวนำการคลอดในสุนัขและแมว รักษามดลูกอักเสบเป็นหนองในสุนัข รักษาภาวะการขยายใหญ่ของเต้านมแมว อันเป็นผลมาจากการได้รับฮอร์โมนคุมกำเนิดเมดด๊อกซี่โปรเจสเตอโรน อะซิเตท (MPA) เพื่อคุมกำเนิดในสัตว์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงมดลูกแมว ภายหลังการใช้ยาแอนตี้โปรเจสตินในแมวที่ได้รับยาคุมกำเนิด MPA โดยใช้แมว 18 ตัว ในระยะ interoestrus แบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 6 ตัว ได้แก่ กลุ่มควบคุม กลุ่มได้รับ MPA และกลุ่มที่ได้รับอะกลีพริสโตน ทำการตรวจทางพยาธิวิทยาทางมหกายวิภาค จุลพยาธิวิทยา และตรวจหาการงอกขยาย ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ด้วยวิธีอิมมูนโนฮิสโตเคมี ภายหลังที่ได้รับ aglepristone ผลในการตรวจทางมหกายวิภาคพบว่าน้ำหนักมดลูก เส้นผ่านศูนย์กลาง และความหนา มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับ MPA ผลทางจุลพยาธิวิทยาพบว่าความหนาของชั้น endometrium และ myometrium แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.92 และ P=0.78 ตามลำดับ) ลักษณะการจัดเรียงของตัวและรูปร่างเซลล์บริเวณ luminal epithelium ภายหลังที่ได้รับยา aglepristone นั้น พบการเรียงตัวของบางตัวเป็นแบบ single layer และเรียงตัวแบบ pseudostratified เซลล์เยื่อบุมีรูปร่าง columnar
พบแมว 1 ตัวในกลุ่มที่ได้รับอะกลีพริสโตน มีลักษณะการเรียงตัวแบบงอกขยาย (hyperplasia) และมีแบคทีเรียอยู่ภายในต่อมมดลูกจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะของเยื่อบุมดลูกอักเสบ (endometritis) หรือ CEH อันเป็นสภาพเริ่มต้นจากการขยายใหญ่ของ endometrial gland การหนาตัวของ luminal และ glandular epithelium ความหนาแน่นของ endometrial gland การขยายของ endometrial gland สารคัดหลั่งใน endometrial gland รวมทั้งการคั่งเลือดและเลือดออกในมดลูก อยู่ในระดับแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าดัชนี PCNA ภายหลังที่ได้รับยา aglepristone พบค่าดัชนี PCNA ต่ำกว่าแมวกลุ่มที่ฉีดยาคุมกำเนิด MPA อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งใน luminal and glandular epithelium (P=0.47 และ P=0.10 ตามลำดับ) ผลของ PR score ภายหลังที่ได้รับยา aglepristone นั้นพบว่าทั้งใน luminal and glandular epithelium มีระดับ PR score สูงกว่ากลุ่มที่ฉีดยาคุมกำเนิด MPA อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.42 และ P=0.37) จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ามดลูกแมวภายหลังที่ได้รับยา aglepristone ไม่มีความแตกต่างกับแมวที่ได้รับยาคุมกำเนิด MPA ทั้งทางพยาธิสภาพและการแสดงออกของตัวรับโปรเจสเตอโรน อาจต้องทำการศึกษาต่อไปในอนาคตเพื่อให้ได้ผลการทดลองที่ชัดเจนขึ้น