Abstract:
จริยศาสตร์แห่งความอาทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนเรื่อง “จากเสียงที่ต่างไป” (“In A Different Voice”) ซึ่งเริ่มจากการ “ฟัง” เสียงผู้หญิงและประสบการณ์ทางจริยธรรมของผู้หญิงกลับช่วยดึงจริยศาสตร์ให้ติดดิน หยั่งฐานจากความจริงของบริบทชีวิตมนุษย์ ซึ่งก็คือการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน การที่จริยศาสตร์ดังกล่าวเน้นความสำคัญของบริบทและเรื่องเล่าทำให้เราต้องทบทวนความเข้าใจจริยศาสตร์และปัญหาจริยศาสตร์กันใหม่ ในกระบวนทัศน์ดังกล่าวทฤษฎีจริยศาสตร์ที่จะช่วยเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตได้จะต้องมีที่มาจากประสบการณ์ทางจริยธรรมในบริบทชีวิตจริงของคนจริง ๆ ที่มีอัตลักษณ์และดำรงอยู่ในเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ ทฤษฎีจริยศาสตร์ดังกล่าวจะต้องมุ่งจุดสนใจสู่ความต้องการจริงและการสนองความต้องการนั้น ๆ อย่างเหมาะสม นี่หมายความว่ามนุษย์จะต้องมีการคุยกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น นอกจากการพูดคุยกันจะถือเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่การตัดสินและการแก้ปัญหาจริยธรรมแล้วยังถือเป็นสาระสำคัญของผู้ที่มีจริยธรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญพอกันก็คือทฤษฎีจริยศาสตร์ที่ใช้ได้จะต้องเข้าใจปัญหาจริยธรรมว่าเป็นปัญหาในความสัมพันธ์และชีวิตที่ดีคือชีวิตในความสัมพันธ์ที่ส่งเสริมดุลยภาพของตัวตนสัมพันธ์