Abstract:
บทความฉบับนี้วิเคราะห์นวนิยายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปีพุทธศักราช 2546 ของประเทศไทย ของเดือนวาด พิมวนา เรื่อง ช่างสำราญ โดยมุ่งวิเคราะห์เนื้อหาและลักษณะการนำเสนอ ผลการศึกษาพบว่า ช่างสำราญ เลือกเสนอเนื้อหาชีวิตของกลุ่มคนในชุมชนห้องแถวที่มีประสบการณ์ชีวิตธรรมดาสามัญ อันเป็นประสบการณ์ที่ได้รับการประเมินค่าว่าน่าสนใจน้อยกว่าประสบการณ์ชีวิตกลางแจ้งที่เข้มข้นหรือประสบการณ์ชีวิตกลางคืนที่โชกโชน แต่ผู้เขียนเห็นว่าการค้นหาประเด็นและวิธีการในการนำเสนอเป็นสิ่งที่สร้างความหมายให้กับประสบการณ์สามัญเหล่านี้ได้ การเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กชายกำพล ช่างสำราญและการใช้ผู้เล่าเรื่องแบบผู้รู้ชนิดไม่แสดงทัศนะ ช่วยสร้างระยะห่างระหว่างผู้ประพันธ์กับตัวละคร แต่เสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับตัวละคร ทำให้การให้ความหมายในนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการอ่านของผู้อ่านเป็นอย่างมาก ลีลาการเล่าเรื่องโดยนำเรื่องสุขกับเรื่องเศร้ามาวางเทียบเคียงกันเป็นระยะๆ เพื่อตัดความรู้สึกสมจริงของเรื่อง และการใช้ภาพพจน์แบบการแฝงนัยในการเล่นกับโชคชะตาของตัวละคร ล้อกับความคาดหมายของผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกตัวตลอดเวลาว่ากำลังอ่านเรื่องเล่าและทำให้นวนิยายเรื่องนี้ต่างไปจาก นวนิยายเรื่องอื่นที่มุ่งสร้างความรู้สึกสมจริงเป็นหลัก ช่างสำราญ เป็นวาทกรรมที่โต้ตอบกับคำนิยามเรื่องความเป็นนวนิยายชุดเดิม เพราะแตกต่างจากนวนิยายที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ทั้งในด้านการคัดเลือกประสบการณ์ การวางโครงเรื่อง การสร้างตัวละคร และการเสนอแนวคิด เมื่อรวมกับบรรยากาศของเรื่องที่มีลักษณะของการโหยหาอดีตผสมผสานกับการสะท้อนสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันอย่างมีอารมณ์ขันทำให้เรื่อง ช่างสำราญ มีลักษณะของความเป็นหลังสมัยใหม่ ทั้งในแง่ของการค้านความคิดความเชื่อว่ามีชุดความรู้แบบหนึ่งที่สามารถอธิบายความจริงได้ทั้งหมด และการเสนอตัวในฐานะความแตกต่างเพื่อเปิดพื้นที่ให้ให้กับเรื่องเล่าประเภทนวนิยายที่มีลีลาการนำเสนอแบบใหม่ ต่างไปจากสิ่งที่คนคุ้นเคย