Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมการสร้างและคุณภาพของเครื่องดนตรีไทย ภาคเหนือประเภทเครื่องดีด (ซึงกลาง) และกลองปูเจ่ โดยมีพื้นที่ศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และน่าน ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิจัย พบว่า วิธีสร้างซึงกลาง ส่วนใหญ่มักใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ส่วนโรงงานที่มีขนาดใหญ่ก็ใช้ เครื่องมือที่ทันสมัย โดยให้เหตุผลว่า ประหยัดเวลา งานรวดเร็ว และเพิ่มปริมาณได้มาก ทว่าในบรรดาช่างสร้างซึงกลาง ทั้ง ๑๓ ท่าน มีกรรมวิธีการผลิตที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป โดยเฉพาะรูปแบบและขนาด ส่วนขั้นตอนการตกแต่งเสียงนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการเทียบเสียง จากการศึกษาวิธีการสร้างกลองปูเจ่ พบว่า ช่างผู้สร้างกลองปูเจ่ทั้ง ๔ ท่าน ส่วนใหญ่มักใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ส่วนน้อยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย อาจมีบ้างในบางโรงงานใช้เครื่องมือในลักษณะผสมผสานระหว่างเครื่องมือที่หาได้ในท้องถิ่น และเครื่องมือที่ทันสมัย มักทำหุ่นกลองจากไม้และหนังหุ้มด้วยหนังวัว มีกรรมวิธีเป็นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยมีลักษณะรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกัน