Abstract:
ศึกษา 1. ปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้สูงอายุมาปฏิบัติธรรม 2. ความผูกพันและบทบาทของผู้สูงอายุกับวัด 3. ผลลัพธ์ที่ผู้สูงอายุได้รับหลังการปฏิบัติธรรม ซึ่งได้วางกรอบแนวคิดและทฤษฏีวิจัยได้แก่ แนวคิดเรื่องผู้สูงอายุ ทฤษฎีภาวะสูงอายุ แนวคิดเรื่องศาสนา แนวคิดเรื่องศาสนาพุทธกับการแก้ปัญหาชีวิต ทฤษฎีบุคลิกภาพของอีริค อิริคสัน และ ทฤษฎีแรงขับ มาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล ในการเก็บข้อมูลผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคการสังเกตแบบมีส่วนร่วมนั่นคือ ผู้วิจัยได้เข้าไปร่วมในการปฏิบัติธรรมที่วัด และใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกกับผู้สูงอายุที่มาปฏิบัติธรรม ที่วัดสนามใน จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้คัดเลือกกรณีศึกษาเป็นผู้สูงอายุที่น่าสนใจมาจำนวน 12 กรณี ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้สูงอายุเข้ามาปฏิบัติธรรมมีหลากหลายปัจจัย คือ ภาวะการประสบกับเรื่องทุกข์ใจที่มีสาเหตุมาจากการงานและ/หรือคนรอบข้าง ความศรัทธาในตัวบุคคลหรือพระ การเข้ามาปฏิบัติธรรมเพราะทำตามกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ความกลัวตายเนื่องจากการเจ็บป่วย ความสงสัยในสิ่งที่เหนือคำอธิบาย ความเบื่อหน่ายทางโลก และความสนใจในทางธรรม 2. ความผูกพันที่ผู้สูงอายุมีต่อวัด สามารถสะท้อนให้เห็นได้จาก ความรู้สึกว่าวัดเป็นบ้านหลังที่สองของผู้สูงอายุ
ความถี่ของการเข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัด และความรู้สึกว่าผู้สูงอายุเป็นส่วนหนึ่งของวัด ซึ่งความผูกพันจะมีความสัมพันธ์กับการสร้างบทบาทใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุ บทบาทใหม่ที่ผู้สูงอายุมีต่อวัด คือ การเป็นผู้ทำนุบำรุงศาสนา การเป็นผู้ดูแลสถานที่และช่วยงานต่างๆ ของวัด การเป็นผู้ดูแลพระสงฆ์ ซึ่งบุคคลอาจเลือกที่จะมีมากกว่าหนึ่งบทบาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความผูกพันของตนต่อวัด 3. ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเช่น หายจากอาการนอนไม่หลับ ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ เช่น มีอารมณ์โกรธที่ลดลง มีสติรู้ในความคิด เกิดความรู้สึกสบายใจ จิตปล่อยวางต่อสิ่งรบกวน จากการเจ็บป่วย ละซึ่งทรัพย์สมบัติและเรื่องทุกข์ใจ นอกจากนี้เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วผู้สูงอายุบางท่านอาจได้แนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิต เช่น แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดจิตอาสา ความมีเมตตา การรู้เท่าทันผู้อื่น ความมีสติในการกระทำ แนวคิดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตในสังคม ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ซึ่งวิถีในการดำรงชีพของผู้สูงอายุที่หันหน้าเข้าสู่พุทธศาสนา จะสามารถนำมาเป็นประโยชน์ให้คนในวัยอื่นในสังคมไทยได้เกิดความเข้าใจในผู้สูงอายุยิ่งขึ้น และเห็นคุณค่าและบทบาทของผู้สูงอายุไทย